Frankshin Article
รีทวีต
ทวีต รีทวีต โพสต์เฟซบุ๊ก กดแชร์ แสดงความคิดเห็น เสี่ยงหมิ่นประมาท พ.ร.บ.คอมพ์ ชาวโซเชียลฯ รู้รึยัง?
ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์ วันศุกร์ 26 กันยายน 2557 เวลา 00:01 น. ในงานเสวนาเรื่อง “ฟ้องหมิ่นประมาท” เครื่องมือปิดกั้นการตรวจสอบ/การทำหน้าที่! จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีน.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ร่วมเสวนาพร้อมนักวิชาการ โดยประเด็นเสวนาครั้งนี้มุ่งไปที่กฎหมายหมิ่นประมาทที่มีผลต่อการแสดงออกซึ่งสิทธิ เสรีภาพ ทางความคิดเห็นของสื่อ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จะยกคดีตัวอย่าง คดีฟ้องร้องที่ทำให้ต้องหันมาฉุกคิดเกี่ยวกับการทวีต รีทวีต โพสต์เฟซบุ๊ก กดไลค์ แชร์ ที่มีความผิดตามพ.ร.บ.คอมพ์ ซึ่งมีให้เห็นมากขึ้นช่วงปีที่ผ่านมา และข้อกล่าวหาความผิดที่คุณอาจคาดไม่ถึงมาให้อ่านกัน
กรณีเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ภูเก็ตหวาน ถูกกองทัพเรือแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรวิชิต แจ้งข้อกล่าวหาว่า “ร่วมกันหมิ่นประมาท
ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และร่วมกันเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ตามประมวลกฎหมายอาญาและพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(1) เนื่องจากได้เผยแพร่รายงานพิเศษเรื่อง “ทหารไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้อพยพทางเรือ” ซึ่งอ้างอิงแหล่งข้อมูลมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ น.ส.ชุติมา สีดาเสถียร ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ภูเก็ตหวาน
กล่าวว่า รายงานเรื่องนี้มีการโค้ดคำพูดมาจากรอยเตอร์ 41 คำ โดยไม่มีการแปล
ซึ่งการฟ้องร้องหมิ่นประมาทตามพ.ร.บ.คอมพ์
ไม่ได้ฟ้องรอยเตอร์ต้นต่อข้อมูล แต่กลับฟ้องผู้นำข้อมูลมาลง
และวันนี้ตนถูกขึ้นแบล็คลิสต์(บัญชีดำ)ของกองทัพเรือ ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าไปทำข่าวในพื้นที่กองทัพเรือได้ “
กรณีนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเรานำข่าวมาจากสำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งเป็นสำนักข่าวต่างประเทศที่น่าเชื่อถือ แต่กลับโดนฟ้อง แต่รอยเตอร์ไม่โดนฟ้อง แล้วอย่างนี้จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อนำข่าวต่างประเทศอื่นๆ มาลงจะโดนฟ้องหรือไม่โดนฟ้องอีก” น.ส.ชุติมา กล่าว
อีกกรณีที่ถือว่าเป็นเรื่องฮือฮาของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย คือ กรณี น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสท. ถูกบริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ยื่นฟ้องหมิ่นประมาท และกระทำความผิดตาม พรบ.คอมพ์ จากการแสดงความเห็นออกสื่อเกี่ยวกับการออกอากาศคู่ขนานทีวีระบบดิจิตอล และ จากการรีทวีตข้อความของผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ แคน สาริกา @can_nw ที่ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวข้องกับความเป็นมาของทีวีไทยกับความสัมพันธ์ช่อง 3 น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า หลายครั้ง การฟ้องร้องหมิ่นประมาทก็พ่วงกับการฟ้องการทำผิด พ.ร.บ.คอมพ์ อย่างเช่นตนที่โดนฟ้องล่าสุด ซึ่งส่วนตัวมองว่าสื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้แสดงความคิดเห็น เช่นเดียวกับสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นต้องหาจุดสมดุลของสังคม เสรีภาพในการใช้งาน และความรับผิดชอบ คำว่าจุดสมดุลนี้ต้องดูว่าจะถึงกับต้องเปลี่ยนกฎหมายเลยหรือไม่ หรือเพียงสร้างบรรยากาศในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งกรณีที่ตนโดนฟ้องจริงๆ สามารถคุยกันได้ว่าขอให้ยกเลิกรีทวีต หรือรีทวีตข้อความใหม่ ส่วนตัวมองว่าทวิตเตอร์เป็นช่องทางสื่อสารหนึ่งที่เข้าถึงประชาชน และวันนี้เทคโนโลยีก้าวไกลไปมากแล้ว แทนที่จะใช้หลักฟ้องร้องกัน น่าจะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้ นายนคร ชมพูชาต ทนายความ กล่าวว่า กรณี ช่อง 3 ยื่นฟ้องหมิ่นประมาณ น.ส.สุภิญญา ด้วยความผิดตามพ.ร.บ.คอมพ์ สามารถอธิบายได้ว่า เป็นวิธีการใช้สิทธิปกป้องตัวเองของช่อง 3 และวิเคราะห์ได้ว่าข้อความที่ น.ส.สุภิญญา รีทวีตอาจมีข้อความที่ไปเสริมในสิ่งที่เคยพูดแถลงข่าว โดยถือว่าเป็นจุดเชื่อมโยงที่ต้องการพูดถึงช่อง 3 ซึ่งการรีทวีตข้อความของ น.ส.สุภิญญา อาจไปกระตุ้นความรู้สึกของอีกฝ่าย
“ส่วนกรณีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วไป ทวีต รีทวีต หรือโพสต์เฟซบุ๊ก หากผู้ใดมีความประสงค์จะฟ้องก็สามารถยื่นฟ้องได้หมด เพราะถือว่าเป็นผู้เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งการฟ้องอยู่ที่ศาลจะพิจารณารับฟ้องหรือไม่ ขณะที่การยื่นฟ้องสามารถยื่นฟ้องได้ทั้งส่วนขององค์กรที่เป็นเจ้าของแอคเค้าท์ (account) และคนดูแลที่รับผิดชอบแอคเค้าท์ ขึ้นอยู่กับบริบทในการยื่นฟ้อง สามารถยื่นฟ้องได้ทั้งคนโพสต์ข้อความ และคนรีทวีต”
นายนคร กล่าว
สำหรับ พ.ร.บ.คอมพ์ มาตรา 14(1) ระบุว่า “ผู้ใด...นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” มีโทษจำคุกไม่เกิน5ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ นักกฎหมาย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLaw) ) กล่าวว่า มาตรา 14 (1) สามารถตีความได้หลากหลายทำให้เป็นคดีความกันมาก ดังนี้ 1.การปลอมแปลง การปลอมแปลงไฟล์เพื่อแฝงตัวเข้ามาทำลายระบบคอมพิวเตอร์ 2.การหลอกลวง ฉ้อโกง เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ว่าเป็นเว็บไซต์ของสถาบันการเงิน และ3.การหมิ่นประมาท ลักษณะของความผิดเป็นความผิดส่วนตัว ทั้ง ๆ ที่จุดประสงค์ที่แท้จริงการออกมาตรานี้เพื่อป้องกันและปราบปรามการปลอมแปลงข้อมูลของผู้ใช้ หรือที่เรียกว่า Phishing การปลอมแปลงเอกสาร ซึ่งเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารในกฎหมายอาญา “กรณีความผิดต่อระบบ และฉ้อโกง ศาลมักตัดสินให้มีความผิด ขณะที่การหมิ่นประมาท ที่ฟ้องตามกฎหมายอาญามาตรา 326 และ 328มีอัตราการยกฟ้องและถอนฟ้องสูง แต่การหมิ่นประมาทตามพ.ร.บ.คอมพ์ ไม่สามารถถอนฟ้องได้ ต้องทำตามกระบวนการให้จบ”
นายยิ่งชีพ กล่าว จากสถิติงานวิจัยหัวข้อ “ผลกระทบจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และนโยบายของรัฐกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ก.ค. 50-ธ.ค. 2554 มีคดีตามพ.ร.บ.คอมพ์ 2550 ถึงชั้นศาลรวม 277 คดี แบ่งเป็นความผิดต่อระบบ 62 คดี ความผิดต่อเนื้อหา 215 คดี และนับตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีคดีฟ้องร้องเรื่องหมิ่นประมาณโดยฟ้องตามพ.ร.บ.คอมพ์ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุจากสื่อกระแสหลักมีการใช้งานสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น ขณะที่การฟ้องหมิ่นประมาทตามพ.ร.บ.คอมพ์ ของผู้ใช้งานทั่วไปซึ่งคดีไม่ถึงชั้นศาลแต่อยู่ในขั้นแจ้งความมีระดับ 1,000 คดี ซึ่งส่วนใหญ่สามารถยอมความได้ แต่ถ้าเรื่องถึงชั้นศาลและศาลรับคำฟ้องก็ต้องดำเนินการไปตามกระบวนการให้จบไม่สามารถยอมความหรือถอนฟ้องได้ นายยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า ตามพ.ร.บ.คอมพ์ เมื่อโพสต์ข้อความใดขึ้นไปแล้ว หากทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น สามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้ทันที ทั้งตัวบุคคลและองค์กร ซึ่งกรณีนี้ทำให้พ.ร.บ.คอมพ์ ฉบับปัจจุบันถูกวิจารณ์ว่าควรรวมความผิดเกี่ยวกับเนื้อหาไว้ด้วยกันหรือไม่ เพราะ พ.ร.บ.คอมพ์ มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมดูแลการกระทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบในทางเทคนิคเท่านั้น อีกทั้งความผิดหลายมาตราก็ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น
“มองว่าการฟ้องหมิ่นประมาทมี 2 เหตุผล คือ ฟ้องเพื่อรักษาหน้า และหยุดขบวนการไม่ให้เดินหน้า
ซึ่งจุดประสงค์ของการเขียน มาตรา 14(1) พ.ร.บ.คอมพ์ เพื่ออุดช่องโหว่การปลอมเอกสาร แต่ปัจจุบันถูกนำมาใช้เกี่ยวกับการโพสต์เฟซบุ๊กและโพสต์ข้อความออนไลน์อื่นๆ จึงเกิดการบังคับใช้กฎหมายโดยไม่ตรงกับเจตนารมณ์ ทางออกของเรื่องนี้คือ ควรยกเลิกเรื่องของหมิ่นประมาทออกจากพ.ร.บ.คอมพ์” หวังว่าชาวโซเชียลมีเดียจะสื่อสารในโลกออนไลน์กันได้อย่างปลอดคดีความ.
@phetchan เดลินิวส์ออนไลน์
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Size : 6.52 KBs
Upload : 2014-10-20 20:04:46
ติชม
กำลังแสดงหน้า
1/0
<<
1
>>
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :
Frankshin
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์
วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240
Generated 0.032172 sec.