Frankshin Article


ฟังกูรูการศึกษาระดับโลก
ฟังกูรูการศึกษาระดับโลก ยกระดับคุณภาพเพื่อการเรียนรู้
updated: 05 พ.ย. 2557 เวลา 14:11:12 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
          เพราะเล็งเห็นว่าการประเมินเพื่อการเรียนรู้ (Assessment for Learning) สามารถยกระดับคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก รวมถึงยังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในเวทีการประชุมทางการศึกษาทั่วโลก จึงทำให้บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หยิบยกเรื่องการประเมินเพื่อการเรียนรู้มาเป็นแนวคิดและไฮไลต์ของการจัดงานมหกรรมทางการศึกษา เพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 7 หรือ EDUCA 2014
         'รศ.ริต้า ชุก ยิน เบอร์รี่' จากสำนักวิจัยเพื่อประเมินผลการเรียนรู้ สถาบันคุรุศึกษาแห่งฮ่องกง ให้ข้อมูลว่า การประเมินและการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาเชื่อมโยงกับการเรียนการสอน ทั้งด้านแผนการเรียนรู้ วิธีการสอน รวมถึงนโยบายการศึกษา โดยฮ่องกงใช้เวลาศึกษาวิจัยเรื่องนี้ 2 ปี ก่อนที่จะออกมาเป็น 50 ตัวชี้วัด เพื่อเป็นแนวทางให้กับครูและผู้บริหารสถาบันการศึกษา ที่ส่งผลไปยังนักเรียนที่จะมีการเรียนรู้ดีขึ้น 'ยกตัวอย่างการตั้งคำถามของครูต่อนักเรียนเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินการเรียนรู้ระหว่างการเรียนการสอนเพราะทำให้ทราบว่านักเรียนมีการเรียนรู้อย่างไรและอยู่ระดับใดซึ่งข้อมูลที่ครูได้รับจะแปรผลมาสู่การพัฒนาการสอนอย่างไรก็ดีครูต้องมีเทคนิคการตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากขึ้น' 'ครูต้องวางแผนก่อนว่าจะตั้งคำถามประเภทใด แล้วควรถามอะไร เมื่อตั้งคำถามแล้วต้องให้เวลานักเรียนประมวลความคิดก่อนตอบคำถาม ครูไม่ควรใจร้อนบอกคำตอบออกมาเลย แต่ต้องเป็นผู้กระตุ้นให้เด็กตอบเอง'
         ทั้งนี้ ครูควรมี Feedback กับคำตอบของนักเรียน เช่น กล่าวชมเชย, ให้ความรู้เพิ่มเติมเมื่อมีรายละเอียดเฉพาะ, ให้คำอธิบายว่าทำไมคำตอบจึงถูก-ผิด เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้นักเรียนมีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยการให้ Feedback ที่เหมาะสม หรืออธิบายเหตุผลประกอบจนทำให้เด็กมีความเข้าใจและมั่นใจตนเอง
              'การประเมินเพื่อการเรียนรู้สำคัญพอ ๆ กับการแสวงหาความรู้ ถ้าเรามีแต่กระบวนการ โดยไม่ดูผลลัพธ์ของเด็ก คงไม่ใช่เรื่องดี เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นผ่านกระบวนการประเมินผล และนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หรือกล่าวได้ว่า หากกระบวนการผิดตั้งแต่ต้น ผลลัพธ์ก็ไม่ถูกต้อง'
            ขณะที่ 'รศ.แซนดี้ คุก' รองคณบดีอาวุโสมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ DUKE-NUS ประเทศสิงคโปร์ แนะนำอีกหนึ่งแนวทางสำหรับนำมาใช้กับการประเมินเพื่อการเรียนรู้ว่าครูอาจใช้การเรียนแบบทีม (Team-Based Learning) แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มจาก 1) การเตรียมตัว ครูให้งานกับนักเรียนไปล่วงหน้า เพื่อทำการศึกษาด้วยตัวเองก่อนมาเรียนในห้องเรียน 2) การประเมิน ครูดูว่านักเรียนเตรียมตัวแค่ไหนก่อนเข้าเรียน โดยประเมินผลจากการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนผ่านการทดสอบ เพื่อให้เด็กประเมินตัวเองว่าต้องเตรียมตัวครั้งต่อไปอย่างไร 'ครูอาจทำเป็น Group Test เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนตอบคำถาม เพราะเด็กอาจไม่ค่อยอยากคุยกับครูโดยตรง แต่วิธีนี้จะทำให้เด็กกล้าถาม และหาคำตอบที่ตนเองไม่เข้าใจ และเมื่อเป็นแบบทดสอบที่ทำให้เขามีส่วนร่วมกับเพื่อน จะนำไปสู่การทำงานเป็นทีม ขณะเดียวกัน ครูต้องประเมินในขณะนั้นเลย เพื่อรู้ว่านักเรียนมีปัญหาตรงไหน จะได้ให้คำแนะนำได้ทันท่วงที' 3) นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ให้นักเรียนทุกกลุ่มทำงานโดยแก้ปัญหาเดียวกัน เพื่อให้เขาได้ฟังคำตอบและข้อมูลที่กลุ่มอื่นนำเสนอด้วย โดยคำตอบอาจมีได้หลายทางจนทำให้เด็กวิเคราะห์และวิพากษ์ว่าทำไมคำตอบจึงเป็นเช่นนั้น 'กิจกรรมของการเรียนแบบทีมเป็นการให้ครูสร้างคำถามขึ้นมาว่าเราอยากให้เด็กเรียนรู้อะไรบ้างและนักเรียนต้องเตรียมตัวอย่างไรเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาซึ่งเมื่อเด็กทำงานเป็นทีมจะมีความตั้งใจมากกว่าการฟังบรรยายเพราะจะทำให้เขาเกิดการค้นคว้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เหมือนเป็นการพัฒนาทักษะขั้นสูง เพราะต้องวิเคราะห์และประเมินความคิดเห็นของคนอื่นด้วย โดยอาจารย์ต้องดูด้วยว่าเด็กทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงาน ต้องไม่มีเด็กที่ถูกทิ้งจากเพื่อน'
           ด้าน 'ศ.คลินิกไมเคิล แอสกิว' จากมหาวิทยาลัยโมแนซ ประเทศออสเตรเลียบอกว่า เป้าหมายของการเรียนรู้ในชั้นเรียนมี 2 อย่าง คือ การเรียนรู้โดยตรง เป็นองค์ความรู้ที่เด็กได้รับจากการเรียน กับการเรียนรู้โดยอ้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้ทางอ้อมจากการเรียน ไม่ว่าจะเป็นทักษะ, การคิดแบบมีวิจารณญาณ, การแก้ปัญหา, การให้เหตุผล เป็นต้น 'ในการเรียนการสอน อาจมีบ้างที่นักเรียนตอบผิด เราต้องศึกษาหลักความคิดของเขาว่า ทำไมคำตอบจึงผิด โดยครูจะต้องรับฟังข้อมูลก่อนในครั้งแรก แต่หากนักเรียนตอบผิดอีกครั้งก็ให้เด็ก ๆ แบ่งกลุ่มกัน เพื่อให้เขาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่มว่าอะไรคือคำตอบที่ถูกต้อง คือครูไม่ใช่ผู้ตัดสินเสมอไป แต่ต้องให้เด็กลองแลกเปลี่ยนคำตอบด้วย'
             'ศ.คลินิกไมเคิล แอสกิว' ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การประเมินผลจะส่งผลต่อการเรียนอย่างมาก โดยการประเมินอย่างละเอียดจะทำให้ครูทราบว่าเด็กเรียนรู้ถึงระยะไหน รวมถึงเข้าใจความคิดของเด็ก ทั้งนี้ ต้องเริ่มจากการดูว่าประเมินเพื่ออะไรบ้าง ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างไร และต้องเก็บบันทึกการประเมินนักเรียน ทั้งผลการเรียนรู้ทางตรงและทางอ้อม เพื่อครูจะได้นำข้อมูลที่เก็บจากนักเรียนไปสู่การปรับปรุงการสอนของตนเองให้มีประสิทธิภาพในท้ายที่สุด


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 146.58 KBs
Upload : 2014-11-10 19:55:10
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


Frankshin
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์


วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240

Generated 0.028612 sec.