Frankshin Article


สารโพแทสเซียมคลอเรต
...บึ้ม!!! เสียงระเบิดดังโครมใหญ่ในร้านขายอุปกรณ์การเกษตร ตั้งอยู่เลขที่ 34 หมู่ 2 ต.ดอยเต่า อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เมื่อเย็นวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา
ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธ 12 พฤศจิกายน 2557 เวลา 00:00 น.
                 ...บึ้ม!!! เสียงระเบิดดังโครมใหญ่ในร้านขายอุปกรณ์การเกษตร ตั้งอยู่เลขที่ 34 หมู่ 2 ต.ดอยเต่า อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ เมื่อเย็นวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา ฉีกร่าง นางพยอม นันต๊ะสาร อายุ 45 ปี เจ้าของบ้าน และ นางสมใจ ยาใจ อายุ 42 ปี ผู้เป็นญาติ ออกเป็นชิ้น ๆ สภาพศพแหลกเหลว เพราะถูกแรงอัดของระเบิด เศษเนื้อและชิ้นส่วนอวัยวะกระจัดกระจายเกลื่อนพื้น!!
            นอกจากนี้ ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงยังได้รับบาดเจ็บไปอีก 7 คน ประกอบด้วย น.ส.สาวิตรี ยางนิยม อายุ 18 ปี นายสม ยางนิยม อายุ 50 ปี นายสิรวุฒิ ขันแก้วน่าน อายุ 39 ปี นางนาง ติแก้ว อายุ 95 ปี น.ส.จิราภรณ์ อินใจ อายุ 19 ปี นายวัน ติแก้ว อายุ 30 ปี และ น.ส.นงคราญ ทนุโวหาร อายุ 33 ปี ส่วนบ้านเรือนใกล้เคียงเสียหายยับเยิน 2 หลัง เสียหายบางส่วนอีกหลายหลังคาเรือน รวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท !! ส่วนสาเหตุการระเบิด จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานพบว่าบ้านหลังดังกล่าวเปิดเป็นร้านจำหน่ายและเก็บผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารโพแทสเซียมคลอเรต (Potassium Chlorate) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้กันมากในเกษตรกรชาวสวนลำไย นิยมใช้เป็นสารเร่งดอกและผลลำไยให้ออกนอกฤดูกาลเพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียชีวิตทั้งสองกำลังผสมสารโพแทสเซียมคลอเรตกับกำมะถัน หรือซัลเฟอร์ เพื่อนำมาบรรจุถุงรอจำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ อ.ดอยเต่า มาซื้อไปใส่โคนต้นลำไย เพื่อเร่งให้ลำไยออกดอก หรือที่เรียกกันในหมู่ชาวสวนว่า “ลำไยนอกฤดูกาล” เมื่อเกิดการบด การเสียดสี กระทั่งเกิดความร้อน จึงกลายเป็นสาเหตุของการระเบิดในครั้งนี้ !!
         สารโพแทสเซียมคลอเรต แม้จะมีประโยชน์ในทางการเกษตร แต่ในทางกลับกันก็มีโทษมหันต์หากนำไปใช้ผิดวิธี เนื่องจากเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิด และเมื่อดูข้อมูลจากประกาศของกระทรวงกลาโหม เรื่อง กำหนดยุทธภัณฑ์ที่ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 30 พ.ย. 2550 ข้อที่ 2 ประเด็นการกำหนดให้อาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ สารเคมี สารชีวะ สารรังสีหรือสารนิวเคลียร์ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่อาจนำไปใช้ในการรบหรือสงครามได้ โดยลำดับที่ 150 มีชื่อสาร “โพแทสเซียมคลอเรต” ระบุไว้เป็นยุทธภัณฑ์ แต่มีข้อยกเว้น “ไม่ถือว่าเป็นยุทธภัณฑ์” เพิ่มเติมด้วยว่า ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของโพแทสเซียมคลอเรต ไม่เกินร้อยละ 15 และเติมสารหน่วงการออกซิไดซ์สำหรับนำไปใช้ทางการเกษตรที่ปลอดภัยต่อการระเบิด
         ปัจจุบันจึงอนุโลมให้เกษตรกรใช้ และครอบครองสารโพแทสเซียมคลอเรตได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงกลาโหมโดยตรง แต่เนื่องจากมีการใช้สารดังกล่าวกันอย่างกว้างขวาง ทำให้มีการครอบครองสารโพแทสเซียมคลอเรตโดยเกษตรกรทั้งรายใหญ่รายย่อย กระจัดกระจายตามพื้นที่ต่าง ๆ จนยากต่อการควบคุมและป้องกัน ขณะที่ตัวเกษตรกรเองก็ขาดความรู้ในการนำสารนี้มาใช้อย่างถูกต้อง จนเกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นมาดังกล่าว
             สำหรับเหตุสารโพแทสเซียมคลอเรตระเบิด ใน จ.เชียงใหม่ เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อช่วงสายของวันที่ 19 ก.ย. 2542 ที่โรงงานลำไยอบแห้งของบริษัท หงษ์ไทยเกษตรพัฒนา จำกัด ตั้งอยู่ใน ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ สาเหตุเกิดจากการขนย้ายสารโพแทสเซียมคลอเรตเข้ามาเก็บไว้ในโรงงาน ทำให้เกิดการอัด เสียดสี และกระแทก แรงระเบิดส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทันที 45 ราย บาดเจ็บ 102 ราย บ้านเรือนเสียหาย 571 หลังคาเรือน รัศมีทำลายล้างกินบริเวณกว้างกว่า 3 กิโลเมตร โดยหลังเกิดเหตุในครั้งนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามหาแนวทางคุมเข้มการมีและครอบครองสารโพแทสเซียมคลอเรต แต่จนแล้วจนรอดก็มาเกิดเหตุระเบิดจนมีผู้บาดเจ็บล้มตายขึ้นอีกจนได้ “จริง ๆ แล้ว ชาวสวนลำไยส่วนใหญ่จะซื้อสารโพแทสเซียมคลอเรตที่ผสมสำเร็จมาแล้วจากร้านขายปุ๋ยทั่วไป หรือมีตัวแทนจำหน่ายมาส่งให้ถึงสวน สนนราคากิโลกรัมละประมาณ 70 บาท ชาวสวนก็ใช้มาเป็น 10 ปีแล้ว เพราะสารดังกล่าวช่วยเร่งดอกและผลลำไยให้ออกนอกฤดูกาล ซึ่งปกติลำไยในฤดูจะออกผลช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. ช่วงนั้นลำไยจะออกสู่ตลาดมาก ทำให้ขายได้ราคาไม่ดี ส่วนลำไยนอกฤดูกาลจะออกประมาณเดือน พ.ย.-ม.ค. จะขายได้ราคาดี สูงกว่ากันถึง 5 เท่า
          ส่วนสารโพแทสเซียมคลอเรตที่ชาวบ้านซื้อมาส่วนใหญ่จะไม่เก็บไว้นาน แต่จะใช้ให้หมดภายในวันนั้นเลย คำนวณเอา ใส่ที่โคนต้น ต้นละ 2-4 กิโลกรัม เราก็จะซื้อมาให้พอดี เพราะทุกคนกลัวว่าสารจะระเบิดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่ อ.สันป่าตอง ยิ่งล่าสุดมาเกิดที่ อ.ดอยเต่า เชื่อว่าชาวบ้านจะยิ่งกลัวไปอีกเป็นเท่าทวีคูณ” ชาวสวนลำไยคนหนึ่งเผยที่มาที่ไป
          ความเป็นมาของการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตเร่งดอกลำไยให้ออกนอกฤดู ถูกค้นพบโดยบังเอิญเมื่อปี 2541 โดยช่างทำดอกไม้ไฟชาวจีน ได้นำดอกไม้ไฟ และประทัดซึ่งมีส่วนผสมของสารดังกล่าวไปทิ้ง และฝังไว้บริเวณโคนต้นลำไย พบว่าลำไยต้นดังกล่าวออกดอกออกผลนอกฤดูกาล ทั้งที่ต้นลำไยเพิ่งให้ผลผลิตในฤดูมาไม่กี่เดือน ต่อมาจึงทดลองนำสารนี้ไปเทราดโคนต้นลำไยในสวนก็ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก ข่าวนี้แพร่สะพัดไปทั่วประเทศจีน และลามมาถึงเมืองไทย มีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไยที่เชียงใหม่ได้ทดลองใช้และได้ผลดี จึงเป็นที่นิยมและแพร่หลายกันในหมู่ชาวสวนลำไยของภาคเหนือมาจนทุกวันนี้ ส่วนสารโพแทสเซียมคลอเรตเจ้าปัญหานี้ ก็นำเข้ามาจากประเทศจีนนั่นเอง.
สนั่น เข็มราช - อนุศร ศรีวิชัย : ข้อมูล ทีมข่าวหน้า 1 รายงาน


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 83.70 KBs
Upload : 2014-11-12 14:42:45

Size : 66.69 KBs
Upload : 2014-11-12 14:42:45
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


Frankshin
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์


วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240

Generated 0.033547 sec.

   
by