Frankshin Article


เรื่องน่ารู้ของอาการแพ้ยา
Life Style : สุขภาพ วันที่ 2 ธันวาคม 2557 09:48
เรื่องน่ารู้ของอาการแพ้ยา โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
          ปัญหาเรื่องแพ้ยามักพบบ่อยในกลุ่มผู้รับประทานยาร่วมกันหลายชนิดทำให้โอกาสแพ้ยาสูงขึ้น ปัญหาเรื่องแพ้ยามักพบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งต้องรับประทานยาร่วมกันหลายชนิดโอกาสแพ้ยาสูงขึ้น
         พญ.เบ็ญจ์สชีว์ ปัทมดิลก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแพ้ยามีอาการแสดงออกได้หลายอวัยวะผิวหนังก็เป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ง่าย ผื่นแพ้ยาที่ผิวหนังจึงเป็นอาการที่พบได้บ่อย ซึ่งบางครั้งผื่นมีอาการรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ อาการแสดงของระบบอื่นๆ เช่น ไข้เรื้อรัง ปวดข้อ แผลในปาก ตับอักเสบ ไตวาย ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น
       อาการ”แพ้ยา” (Drug Allergy) เกิดจากปฏิกริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในบุคคลนั้น ๆ ที่มีความไวเกินต่อยา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบรับประทาน ฉีด ทาและสูดดม ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน แต่เกิดขึ้นกับบางคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อยามากกว่าปกติ คล้ายกับผู้ที่แพ้อาหารทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่แพ้ จะมีเพียงบางคนเท่านั้นที่แพ้อาหารทะเล ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการแพ้ยาถือเป็นความโชคร้ายเฉพาะบุคคล และไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ยาตัวใดตัวหนึ่งไม่ทำให้การแพ้เหมือนกันทุกคน ซึ่งแตกต่างกับ “อาการข้างเคียงของยา” (Adverse Drug Reaction) หมายถึงผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาชนิดนั้นๆ ไม่ใช่ผลการรักษาที่เราต้องการจากยา อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะเหมือนกันทุกคนที่ได้รับยาชนิดเดียวกัน เพียงแต่อาการที่เกิดขึ้นจะมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน ผมร่วงจากยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง อาการผื่นแพ้ยาจะแตกต่างจากผื่นที่ผิวหนังที่เกิดจากพิษของยาจาก “การได้รับยาเกินขนาด” ( Drug Overdose) เช่น การกินยาเมทโทรเทร็กเสท ที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน หรือรับประทานยาเกินขนาด ทำให้เกิดผื่นแดง แสบ ผิวหนังตายได้
          สำหรับอาการ ผื่นแพ้ยา มีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ผื่นที่มีความรุนแรงน้อย มีอาการเฉพาะที่ผิวหนังอย่างเดียว ไปจนถึงผื่นที่มีความรุนแรงมากและมีความผิดปกติของอวัยวะภายใน ตับ ไต ปอด ระบบเลือด ร่วมด้วย สิ่งที่ต้องสันนิษฐาน คือ หากมีประวัติการรับประทานยา หรือฉีดยา ก็ต้องสงสัยว่าเกิดจากอาการแพ้ยาหรือไม่ หากไม่มีประวัติการได้รับยาใด ๆ มีประวัติสัมผัสแสงแดด มีผื่นกระจายทั่วร่างกาย ตำแหน่งผื่นอยู่นอกร่มผ้า เช่น บริเวณใบหน้า คอ แขนด้านนอก หลังมือ หลังเท้า ก็ต้องสงสัย “ผื่นแพ้แสงแดด” ( Photosensitivity) อย่างไรก็ดีบางครั้งผู้ป่วยมีประวัติการรับประทานยา ทายาบางประเภท ร่วมกับได้รับแสงแดดไปพร้อม ๆ กัน อาจทำให้เกิด “ผื่นแพ้ยาและแสงแดด”( Drug induced Photosensitivity) บริเวณที่อยู่นอกร่มผ้าได้ ชนิดหลังนี้บางครั้งวินิจฉัยยากเพราะผู้ป่วยบางรายได้รับยามาเป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปีโดยไม่เกิดผื่น พอลูกหลานพาไปเที่ยวต่างจังหวัดโดนแดดร่วมด้วย จึงเพิ่งเกิดผื่นขึ้น ก็พบได้บ่อย ๆ ยาที่เป็นสาเหตุของผื่นแพ้แสงแบบนี้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยารักษาความดันโลหิตสูงกลุ่ม thiazide ยาปฏิชีวนะกลุ่ม sulfa และ quinolone ยารักษาอาการซึมเศร้าบางประเภท ยารักษาเบาหวาน เป็นต้น
คำแนะนำ
1. อาการแพ้ยา ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าใครจะแพ้ยาตัวไหน แต่สามารถป้องกันลดอุบัติการณ์การแพ้ยา โดยหลีกเลี่ยงการกินยาที่ไม่จำเป็น
2. เมื่อมีประวัติแพ้ยา ผู้ป่วยต้องจดจำชื่อยาให้แม่นยำไปตลอดชีวิต และเมื่อเจ็บป่วยคราวต่อไป ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่า เคยแพ้ยามาก่อน เพื่อป้องกันการเกิดแพ้ยาซ้ำอีก
3.หากสงสัยว่าอาจแพ้ยาที่รับประทานอยู่ เช่น มีผื่นที่ผิวหนัง ให้หยุดยาที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุทันที ถ่ายรูปผื่น และนำฉลากยาที่สงสัย ไปปรึกษาแพทย์ทันที
4.การจดจำระยะเวลาเริ่มเกิดผื่น จะช่วยบอกว่ายาชนิดใดน่าจะเป็นสาเหตุของการแพ้ยาในผู้ป่วยแต่ละราย
Tags : แพ้ยา • ผู้สูงอายุ • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
post on Dec.6,2014.


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 19.25 KBs
Upload : 2014-12-06 22:24:15
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


Frankshin
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์


วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240

Generated 0.031833 sec.