Frankshin Article
แม่พิมพ์ฮาร์ดคอร์
ฉีกขนบ!
แม่พิมพ์ฮาร์ดคอร์ เปิดใจ 'อาจารย์นคร'
ฉายหนังโป๊สอนในห้องเรียน!
โดย ไทยรัฐออนไลน์ 16 ม.ค. 2558 06:05
เป็นที่ถกเถียงกันมายาวนานสำหรับการเรียนการสอนวิชา 'เพศศึกษา' ในห้องเรียน ทางหนึ่งก็ว่าล้าสมัย อีกทางก็ว่าอย่าไปชี้โพรงให้กระรอก สรุปว่าเด็กไทยสามารถพูดคุยเรื่องเพศกับผู้ใหญ่ได้มากน้อยแค่ไหนกัน...? ในบรรยากาศของ 'วันครู' ที่กี่ปีกี่ชาติการศึกษาก็ยังจมจ่อมเชยๆ เป็นเต่าล้านปีไม่ไปถึงไหน ปีนี้ 'ไทยรัฐออนไลน์'
ขอพาไปทำความรู้จักคุณครูท่านหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับวงการการศึกษาไทยในวิชาเพศศึกษา เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก 'อาจารย์นคร สันธิโยธิน' อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่วันนี้ทุกคนรู้จักครูนครในฐานะที่เป็นครูหัวคิดใหม่ กล้านำหนังโป๊มาเป็นสื่อการเรียนการสอนให้นักเรียนจนโด่งดังไปทั่วประเทศ 'สิ่งที่ครูให้เขาได้คือ ต้องให้ความรู้ที่ครบถ้วนและรอบด้าน ส่วนการตัดสินใจว่าคบกันแล้วต่อไปจะมีเซ็กส์หรือไม่มีเซ็กส์ก็เป็นเรื่องที่เด็กตัดสินใจเอง ยุคนี้เราไม่สามารถที่จะไปบังคับหรือไปบอกเด็กให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ได้' อาจารย์นครบอก จนถึงวันนี้ก็ 34 ปีแล้วในการทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติ และยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ท้อถอย และต่อไปนี้คือบทสัมภาษณ์ของ 'ครู' ผู้เป็นนักปฏิวัติวงการการสอนวิชาเพศศึกษาที่กระตุกสังคมไทยให้กล้าสื่อสารเรื่องเซ็กส์กับวัยรุ่น เพื่อให้เด็กๆให้เท่าทันและไม่ลืมป้องกันตัวเองแล้วมันยังทำให้เห็นได้ว่าถ้าอยากให้การศึกษาพัฒนาต้องหัดนอกกรอบกันบ้าง ไม่เช่นนั้นก็จมปลักอยู่ที่เดิม
Q : ย้อนไปเมื่อเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ครั้งนั้นเกิดเป็นประเด็นกันมากเกี่ยวกับการสอนวิชาเพศศึกษาที่ใช้หนังโป๊มาเป็นสื่อในการเรียน ตอนนั้นทำไมอาจารย์ถึงมีไอเดียนี้ขึ้นมาคะ ช่วงนั้นมันมีเหตุการณ์ว่าแถวโรงเรียนสวนกุหลาบมันจะมีเวิ้งที่มีโรงหนังฉายหนังโป๊เยอะมาก แล้วก็มีปัญหาเด็กเอาหนังโป๊มาดูที่โรงเรียน เมื่อก่อนเราก็พยายามตรวจ ฝ่ายปกครองก็ยึด ทำได้อย่างเดียว คือมันแก้ปัญหาไม่ได้ ทีนี้พอถูกยึดบ่อยๆ เด็กก็เอ่ยปากมาเลยว่า 'อาจารย์อยากดู' เขาขอตรง ๆ กับเราเลย เราก็เออถ้าขอดูเราให้ดูก็ได้ แต่ขณะที่ดูก็ต้องอยู่กับเรา มีเงื่อนไขว่าต้องมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันด้วยนะ เราก็เอาคลิปหนังโป๊มาพลิกเป็นสื่อการสอนไปเลย ในขณะที่ดูก็คุยกับเขาไปด้วยว่าดูแล้วรู้สึกอย่างไร ควบคุมอารมณ์ได้มั้ย ดูแล้วถ้ามีปัญหา นำไปสู่การข่มขืนหรืออื่นๆ ถ้าเกิดขึ้นก็ต้องเข้าคุกใช่มั้ย ก็คุยกับเด็กให้เกิดการเรียนรู้ว่าทำยังไงให้รู้ต้นตอของปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ
Q : แทนที่จะเป็นการปิดกั้น ห้ามดู หรือลงโทษ ก็เปลี่ยนมาเป็นให้ดูอย่างเปิดเผยและเรียนรู้ไปกับมัน? ใช่ๆ ในขณะที่ดูก็ต้องมีการพูดคุยแล้วก็ถามความคิดเห็นว่าที่ดูนี่เพราะอะไร ภาพที่เธอเห็นเป็นผู้หญิงคนอื่นใช่มั้ยเวลาพวกเธอดูถึงไม่ค่อยแคร์เท่าไหร่ แต่ถ้าในทางกลับกันลองคิดดูว่า ถ้าคนที่เล่นหนังโป๊เรื่องนี้เป็นแม่ พ่อ น้องสาว พี่ชาย หรือเป็นญาติๆ ของเธอแล้วมีคนชวนกันมาดู ญาติของพวกเธอเล่นหนังโป๊ เธอยอมรับได้มั้ย อย่างนี้เป็นต้น เด็กก็บอก โห... อาจารย์เล่นแรง เราก็บอกไม่แรงหรอก แต่อยากให้พวกเธอได้คิด ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เป็นลักษณะที่ 'พูดให้จำ ทำให้ดู อยู่ให้เห็น' หรือว่าการให้เด็กได้เข้าใจว่าต้นตอของปัญหาของสังคมมันมาจากอะไร แล้วมันจะทำให้เด็กได้เห็นมิติของสิ่งเหล่านี้มากขึ้น
Q : เป็นเพราะว่าทุกวันนี้สื่อลามกมันเข้าถึงง่ายมากกว่าเมื่อก่อนหรือเปล่า อาจารย์ถึงต้องปรับวิธีการสอนวิชาเพศศึกษาให้เป็นแนวใหม่ ตอนนี้โซเชียลเน็ตเวิร์กมันเป็นอะไรที่เข้าถึงได้ง่ายและรวดเร็วมาก เด็กเขาเข้าถึงได้หมดแล้ว จะมีก็แต่คนแก่เท่านั้นที่ยังไม่ยอมเปิดใจ ทีนี้สิ่งที่เราไม่อยากให้เขาเห็นเขารู้ เด็กเขาหาดูเองได้หมดแล้ว เขานำเราไปมาก พ่อแม่มักจะรู้เป็นคนสุดท้ายในทุกๆ เรื่อง เพราะงั้นทำยังไงเราถึงจะแก้ปัญหาตรงนี้ หรือเราสามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้มั้ย ถามว่าอาจารย์นครเก่งมั้ย เราก็ไม่ได้เก่งหรอก เพียงแต่ว่าพอเรา 'มองให้ไกล เปิดใจให้กว้าง วางให้ได้' ในจุดนี้มันก็จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ การเรียนมันเรียนได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นว่าแค่เฉพาะในห้องเรียน ไม่ใช่ ตอนนี้อะไรๆ มันเปิดกว้าง ความรู้มันหาง่าย เด็กอยากรู้เรื่องอะไรเขาก็แค่คลิกเข้าไปเว็บไซต์นั่นนี่ได้เยอะแยะ พูดกันตามตรงคือความรู้ของเด็กตอนนี้มีมากเกินผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ แต่เพียงเพราะว่าเด็กไม่มีอำนาจ ผู้ใหญ่เป็นฝ่ายที่มีอำนาจมากกว่า ก็สามารถบังคับเขาได้ บอกให้เขาต้องไปเรียนหนังสือ ต้องทำโน่น ทำนี่นะ คือต้องชี้นกให้เป็นนก ชี้ไม้ให้เป็นไม้ เพราะฉะนั้น ตรงนี้เรามองว่าปัญหาของการเรียนการสอนมันก็เกิดขึ้นจากมุมมองความคิดของผู้ใหญ่เองด้วยนะ ยกตัวอย่างเช่น เด็กไทย 17 ล้านคน จะให้เสื้อแค่เบอร์ S M L แค่ 3 เบอร์ทั้งที่เด็กอีกคนหนึ่งช่วงตัวยาวกว่า อีกคนหนึ่งแขนสั้นกว่า ก็ต้องใส่แค่ไซส์ที่เขาจัดมาให้แค่นี้มันก็ไม่ใช่ เพราะเด็กมีความแตกต่างหลากหลายมากกว่านั้น ครูผู้สอนต้องเข้าใจในความหลากหลายนั้นด้วย
Q : หมายความว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป
การเรียนการสอนก็ต้องปรับให้สอดคล้องด้วยใช่มั้ยคะ
ถูกต้องค่ะ
เพราะว่าวิธีการเดิม ๆ อย่างเราบอกเขาว่า หนูต้องรักนวลสงวนตัวนะ แต่เด็กทุกวันนี้รู้จักกัน 7 วันก็ไปอยู่ด้วยกันแล้ว สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่ครูให้เขาได้คือ ต้องให้ความรู้ที่ครบถ้วนและรอบด้าน ส่วนการตัดสินใจว่าคบกันแล้วต่อไปจะมีเซ็กส์หรือไม่มีเซ็กส์ก็เป็นเรื่องที่เด็กเขาตัดสินใจเอง
ยุคนี้เราไม่สามารถที่จะไปบังคับหรือไปบอกเด็กว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้ มันไม่ได้แล้ว ทุกวันนี้ของบางอย่างมันลองผิดลองถูกเองไม่ได้แล้ว จะไปคิดว่าเรื่องพวกนี้เดี๋ยวเด็กโตไปมันก็เรียนรู้ได้เองแหละ มันไม่ใช่ ถ้าปล่อยไปอย่างนั้นไม่มีการพูดคุยอย่างเปิดอก เผื่อเขาพลาดไป เขาติดเอดส์ขึ้นมา แล้วยิ่งทุกวันนี้มันมีปัญหาท้อง แท้ง ทิ้ง เยอะมาก
คือมันเป็นวิธีคิดแบบเก่าที่ว่าไม่หันมาคุยกับเด็ก เพราะคิดว่าถ้าคุยเรื่องนี้อย่างเปิดเผยจะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก
แต่ถามว่าวินาทีนี้ 90% ของเด็กเขารู้เรื่องพวกนี้หมดแล้ว
Q : พอปรับเปลี่ยนวิธีสอนแล้วเห็นผลอะไรบ้าง เด็กเขาก็กล้าพูดกล้าคุยในเรื่องเพศกับผู้ใหญ่มากขึ้น เราก็เคยให้เขาลองทำหนังสั้นเกี่ยวกับวิชาเพศศึกษา เขาก็ทำออกมาได้ดี เป็นเรื่องที่คนอื่นไม่กล้าทำเขาก็ทำกันขึ้นมา อย่างเช่น เรื่องไข่กับสเปิร์ม มันมาเจอกันยังไง แล้วก็อะไรต่างๆ มันเห็นชัดเจน คนที่นั่งดูก็เกิดความเข้าใจได้ง่าย เราเองเราก็ได้เรียนรู้และได้เข้าใจกับบริบทตรงนี้มากขึ้น ที่สำคัญเด็กเขาไม่สร้างกำแพงขึ้นมาปิดกั้นผู้ใหญ่แล้ว เขาก็กล้าเปิดใจพูดคุยกับเราในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น และครูเองก็ไม่ตัดสินเขาน่ะค่ะ เราไม่ตัดสินแทนเขาว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นะ แต่ให้มาเปิดใจด้วยกันแล้วแสดงความคิดเห็นว่าสิ่งที่ทำมันเป็นยังไง มันมีประโยชน์มั้ย มีโทษตรงไหน แล้วมันสามารถแก้ไขได้มั้ย และสามารถนำเสนอไปเป็นตัวอย่างกับคนอื่นได้มั้ย มันก็เลยทำให้เห็นมุมมองของตัวเด็ก แล้วจากที่เรามองว่ามันเป็นวิกฤติเราก็พลิกกลับให้เป็นโอกาสในการที่มาเรียนรู้ร่วมกันได้ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่
Q : ถ้าปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีสอนวิชาเพศศึกษากันทุกโรงเรียน อาจารย์มองว่าจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเพศของเด็กไทยได้มากน้อยแค่ไหน
เรามองว่ามันเป็นปรากฏการณ์ แต่อีกสักระยะหนึ่ง พอประเทศเราได้เรียนรู้ได้เข้าใจอะไรมากขึ้น หลายสิ่งหลายอย่างก็น่าจะดีขึ้น เพราะว่าเด็กของเราเติบโต ก้าวทันเทคโนโลยีไปข้างหน้า
แต่สังคมเรายังตามเด็กไม่ทัน มันขึ้นอยู่กับหลายภาคส่วนด้วย ไม่ใช่อยู่ที่ครูกับเด็กอย่างเดียว นอกจากเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาแล้ว ยังมีเด็กอีกกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบนะคะ เด็กที่ไม่ได้รับการศึกษา เด็กที่มีปัญหา
กลุ่มนี้ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป
Q : ขอถามถึงการทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์ของชาติบ้าง บางแง่มุมสังคมตั้งคำถามกับอาชีพครูไทยว่าเป็นครูในเชิงพาณิชย์ไปแล้ว (รับเงินใต้โต๊ะ/ยักยอกเงินจากสถาบัน) อาจารย์มองเรื่องนี้ยังไงบ้างคะ
มันเป็นเรื่องปกติของสังคมที่พัฒนาจนเจริญมากขึ้น เมื่อไหร่ที่มันเจริญสุดขีด มันก็จะร่วงสุดขีด เราก็อย่าไปมองว่ามันเป็นภาระ อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็ตรัสอยู่ตลอดว่าเราไม่สามารถทำให้คนในสังคมเป็นคนดีได้ทั้งหมด แต่ทำยังไงเราจะไม่พยายามให้คนที่ประพฤติไม่ดีขึ้นมาเป็นผู้นำ มาเป็นคนที่ควบคุมดูแลคนดีคนอื่นๆ เราต้องช่วยกัน คนดีต้องไม่ท้อถอยค่ะ
Q : เวลามีข่าวไม่ดีขึ้นมาแบบนี้ ถือว่าสั่นคลอนวงการแม่พิมพ์ของชาติมากน้อยแค่ไหนคะ มันก็เกิดขึ้นทุกวันล่ะค่ะข่าวพวกนี้ เพียงแต่ว่าครูผู้สอนเองก็ต้องอย่าหวั่นไหว ต้องหาวิธีการและที่จริงเราน่าจะเอาเรื่องนี้มาสร้างการเรียนรู้ระหว่างกัน เอาปัญหามาโต้แย้งกันเพื่อหาทางออก และคิดช่วยกันว่าทำยังไงเราจะป้องกันไม่ให้มันเกิดซ้ำรอยขึ้นอีก เธอคิดอย่างไร ฉันคิดอย่างไร ปัญหาตรงนี้มันน่าจะคลี่คลายไปได้ อะไรที่เป็นวิกฤติก็หยิบมาเป็นโอกาสซะ
Q : เป็นคุณครูมา 34 ปี มองว่า
ครูยุคก่อนกับครูนี้มีจิตวิญญาณความเป็นครูแตกต่างกันมั้ยคะ
ครูใหม่กับครูเก่าแต่ละยุคสมัยมันก็มีความเจริญที่ต่างกัน สังคม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตมันต่างกัน ถามว่ายุคเบบี้บูม ก็คือคนยุคก่อนเขาจะมีความเสียสละ มีความรับผิดชอบ เคารพพ่อแม่ เห็นคุณค่าของเวลา
แต่คนทุกวันนี้ เวลาเขาจะทำอะไรเขาสามารถทำได้หลาย ๆ อย่างในระยะเวลาเดียวกัน แต่ขาดความรอบคอบ ขาดการคิดไตร่ตรอง อันนี้ก็เป็นข้อดีข้อเสียของแต่ละยุคสมัย เราก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหานะ ในฐานะที่เราเป็นครูมานานเวลาเจอครูรุ่นใหม่ที่เขามาในระบบงาน เราต้องให้คำแนะนำกับน้อง ๆ ว่า ยุคสมัยที่พี่เติบโตมาในอาชีพนี้มันเป็นอย่างนี้ สมัยน้องมันแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นก็ไม่เป็นไร ก็มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันได้ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรในจุดนี้ คือคนที่เป็นครูที่เป็นผู้ใหญ่ทำงานมานานกว่าก็ต้องแนะนำครูรุ่นน้อง เพราะเรามีประสบการณ์มากกว่า แล้วถ้าวิธีสอนแตกต่างกันเราก็พบกันครึ่งทางก็ได้ มองว่าคนที่เข้ามาเป็นครู ก็มีจิตวิญญาณของความเป็นครูอยู่เต็มเปี่ยมเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะเป็นครูยุคไหนๆ เพราะเราไม่ได้มองว่าครูยุคก่อนและครูยุคนี้จะมีช่องว่างระหว่างกัน มันอยู่ที่ตัวเรามากกว่า
เราเป็นครู จุดมุ่งหมายของเรามีเหมือนกันคือทำให้ลูกศิษย์เราเป็นคนที่มีคุณภาพ
Q : ในฐานะครู การสร้างคน ๆ หนึ่งให้เป็นคนคุณภาพของประเทศ มันยากมั้ย
มันไม่ง่ายและไม่ยากเกินไป คือเราต้องรับฟังเขาให้มาก ไม่มีใครถูกไปซะทุกเรื่อง บางทีครูก็ผิดได้เหมือนกัน ถ้าครูผิดครูก็ยอมรับผิด และอะไรถูกก็ต้องว่าไปตามถูก คือมันต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน มันก็จะไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ที่สำคัญคือเราก็ต้องเคารพในความคิดซึ่งกันและกัน ถ้าเมื่อไหร่ที่เราไม่ให้เขามีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นต่างๆ โอกาสที่จะทำให้เปิดใจกับเรามันก็เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าทำได้ เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้เขาเติบโตเป็นคนดี เป็นคนที่มีคุณภาพได้
Q : ตั้งแต่ทำงานมา มีช่วงไหนที่เหนื่อยมาก ท้อมาก?
ตอนที่โดนเรียกไปซักฟอกในรัฐสภา ข้อหาที่ว่าฉายหนังโป๊ให้เด็กดู ชีวิตตอนนั้นเจอมรสุมรุนแรงมาก แต่วิกฤติก็กลับกลายเป็นโอกาส หลังจากเหตุการณ์นั้น เราก็กลายเป็นวิทยากรที่ต้องไปให้ความรู้กับครูทั่วประเทศในการสอนวิชาเพศศึกษาแนวใหม่ ไปเป็นวิทยากรให้กับนักเรียนโรงเรียนอื่นๆ ด้วย ก็เอาประสบการณ์ตรงนั้นมาทำให้มันเกิดประโยชน์
แล้วประเด็นเรื่องเพศก็กลายเป็นสิ่งที่สังคมให้ความสนใจหันมาดูแลบุตรหลานเรื่องนี้อย่างเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น เราเคยพูดไว้นานแล้วว่าถ้าเราไม่หันมาสอนเรื่องนี้อย่างจริงจังและถูกทาง ปัญหาท้องแท้งทิ้งจะเกิดขึ้น ต่อมาเราก็พบว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ แล้วสังคมก็ต้องหันกลับมาทบทวนว่าทำไมเราปล่อยให้เรื่องนี้มันเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงไปได้มากขนาดนี้
Q : ในโอกาสวันครูปีนี้ อาจารย์นครอยากฝากอะไรกับคุณครูหรือเด็กๆ บ้างคะ สิ่งที่อยากจะฝากคือเราต้องให้เกียรติ เคารพในความคิดของแต่ละคน เพราะทัศนคติของคนในวงการครูสำคัญอย่างยิ่งเลย ถ้าไม่ฟังกันปุ๊บ มันก็จะจูนกันไม่ติด การแก้ปัญหาก็ไม่เกิด ก็อยากให้บุคลากรในสายอาชีพครูเวลามีปัญหาอะไรให้หันหน้ามาปรึกษา มาพูดคุยกัน ใช้ขันติและทักษะในการสื่อสารให้มาก เพราะหลายสิ่งหลายอย่างจากที่เลวร้ายก็อาจกลายเป็นดีได้ ให้มองถึงตรงนี้ไว้ อะไรที่ทำแล้วมันจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม หรือเกิดประโยชน์ต่อเด็กๆ ของเรา ให้พยายามทำมันให้ดีที่สุด เราต้องช่วยกันพัฒนา ขณะนี้หลายคนพูดว่าเยาวชนกำลังสร้างปัญหา แต่อยากจะบอกว่าเยาวชนไม่ใช่ปัญหานะคะ แต่เขากำลังเผชิญปัญหาที่มาจากสังคมต่างหาก แล้วครูในฐานะผู้ใหญ่ที่อยู่กับเขาที่โรงเรียนทุกวัน เราจะมีแนวทางออกหรือช่วยเหลือเขาได้อย่างไรบ้าง ก็เป็นโจทย์ที่ครูทุกคนต้องหันมาจับมือช่วยกันให้เต็มที่ค่ะ เพราะการที่ลูกศิษย์ประสบความสำเร็จก็ถือเป็นของขวัญชิ้นโบแดงสำหรับครูทุกคนค่ะ.
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊คอาจารย์นคร สันธิโยธิน
post on Monday 19th January 2015.
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Size : 80.96 KBs
Upload : 2015-01-19 17:11:51
ติชม
กำลังแสดงหน้า
1/0
<<
1
>>
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :
Frankshin
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์
วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240
Generated 0.027179 sec.