Frankshin Article |
|

|
|
|
โรดแม็ป ขยะมูลฝอย
กรมส่งเสริมฯ บันได 4 ขั้น “ปลุกสำนึก-สร้างวินัย” คนในชาติ แก้วิกฤติ“ขยะ”อย่างยั่งยืน โดย ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม นสพ.ไทยรัฐออนไลน์ 20 ม.ค. 2558 05:01 ขยะล้นประเทศ! ไม่ผิดเลยหากจะใช้คำนี้กับประเทศไทย ณ วันนี้ เพราะปัจจุบันเรากำลังประสบปัญหาขยะล้นประเทศอย่างรุนแรง โดยในแต่ละวันคนไทยผลิตขยะถึง 73,355 ตัน เฉลี่ยคนไทย 1 คน ผลิตขยะ 1-1.15 กิโลกรัมต่อวัน เฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีขยะสูงถึง 10,000 ตัน/วัน โดยคนกรุงเทพฯ สร้างขยะ 2 กิโลกรัมต่อวันต่อคน ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ เฉลี่ย 0.93 กิโลกรัมต่อวัน ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงกับระบุว่า หากนำปริมาณขยะตกค้างที่มีมากกว่า 30 ล้านตันมาเกลี่ยจะได้ความยาวถึง 37,000 กิโลเมตร ขณะที่ความยาวของเส้นรอบวงโลกยาว 40,000 กิโลเมตร นั่นแสดงให้เห็นว่าปริมาณขยะของประเทศไทยยาวเกือบรอบโลก หันมามองในส่วนของการจัดเก็บขยะกันบ้าง ประเทศไทยมีสถานที่กำจัดขยะทั้งหมด 2,500 แห่งทั่วประเทศ แต่ที่น่าตกใจคือ 80% เป็นการกำจัดขยะอย่างไม่ถูกต้อง ส่งผลให้กลายเป็นกองขยะกลางแจ้งที่สะสมเพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาขยะสะสมมาจากเราทุกคนนี่แหละที่ช่วยกันทิ้ง แถมทิ้งไม่ถูกที่ ไม่ถูกวิธี
โดย 9 จังหวัดที่มีปัญหาขยะตกค้างมากที่สุด ได้แก่ สมุทรปราการ สงขลา กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี และจากความรุนแรงของปัญหาขยะล้นประเทศนี่เอง รัฐบาลถึงกับประกาศให้การแก้ไขปัญหาขยะเป็น “วาระแห่งชาติ” กำหนดแนวทางไว้ 4 ขั้นตอนภายใน 1 ปี คือ 1.กำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสม 2.สร้างรูปแบบการจัดการที่เหมาะสม 3.เน้นบริหารจัดการขยะและ 4.ให้คัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรฯ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบ ตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะต้องแปลงขยะมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า พร้อมกำหนด 6 จังหวัดนำร่องที่มีปริมาณขยะมากและต้องเร่งกำจัดภายใน 6 เดือน ประกอบด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา, นครปฐม, สระบุรี, ลพบุรี, สมุทรปราการ และปทุมธานี “ขณะนี้นับว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทุกคนในสังคมจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะ เพราะอัตราการผลิตขยะ/คน/วันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จาก 1.03 กิโลกรัม/คน/วันในปี 2551 เพิ่มเป็น 1.15 กิโลกรัม/คน/วัน ในปี 2556” น.ส.ภาวิณี ปุณณกันต์ อธิบดีกรม ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรฯ กล่าวถึงสภาพปัญหา
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมฯได้จัดทำ “โรดแม็ป” การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยโรดแม็ปดังกล่าว ประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือ 1.เร่งจัดการขยะมูลฝอยสะสมในสถานที่กำจัดขยะพื้นที่วิกฤติ 2.ให้มีรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อจัดการกับขยะที่เข้ามาใหม่ เน้นการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและแปรรูปพลังงานจากขยะ 3.จัดระเบียบมาตรการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย และ 4.การสร้างวินัยของคนในชาติ มุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน พร้อมๆ กับการรณรงค์สร้างวินัยให้กับคนในชาติโดยการสร้างเครือข่ายการดำเนินการจาก 4 ส่วน คือ 1.การสร้างกระแสสังคม เพื่อสร้างกระแสวัฒนธรรมใหม่ในการรักษาความสะอาดและการจัดการขยะอย่างครบวงจร 2.ส่งเสริมต้นแบบที่ดีสู่สังคม เชิดชูบุคคล องค์กร ชุมชน ที่มีผลงานดีเด่นเพื่อเป็นแบบอย่าง 3.มีภาคีความร่วมมือร่วมดำเนินงาน โดยภาครัฐเป็นผู้นำการสร้างกระแสสังคม ขณะที่ภาคเอกชนเป็นภาคีความร่วมมือสำคัญในการขยายผล ภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน และ 4.สังคมช่วยสร้างกระแสรณรงค์ในวงกว้างให้เกิดความตื่นตัว “สิ่งสำคัญยิ่งกว่าโรดแม็ป คือ การสร้างวินัยคนในชาติสู่การจัดการขยะอย่างยั่งยืนเพราะหากประชาชนขาดวินัย ขาดจิตสำนึก และความรู้ ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน” อธิบดีกรมส่งเสริมฯระบุชัด สำหรับกระบวนการการแก้ปัญหาขยะที่เริ่มมีการผลักดันแล้ว อาทิ โครงการเมืองสะอาดคนในชาติมีสุข ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรฯ กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนในการร่วมกันทำความสะอาดบ้านเมือง ทิ้งขยะถูกที่ ถูกทางในพื้นที่สาธารณะ
นอกจากนี้ ยังมีการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่ 5 ธ.ค.2557-12 ส.ค.2558 “จากวันพ่อ ถึงวันแม่ ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม” โดยเพิ่มความเข้มข้นการรณรงค์สร้างวินัย การมีจิตสำนึกลดและคัดแยกขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้หลักการ “3R” Reduce Reuse Recycle ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการให้อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) กว่า 170,000 คน ทั่วประเทศ ลงไปถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการปัญหาขยะกับประชาชนในท้องที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นต้น แต่การแก้ปัญหาขยะล้นประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้คนส่วนใหญ่จะมองเห็นขยะเป็นสิ่งสกปรกและไม่เป็นที่ต้องการ
แต่อีกด้านหนึ่ง ขยะกลับกลายเป็นขุมทรัพย์ที่สร้างผลประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับใครหลาย ๆ คน และแม้รัฐบาลจะประกาศการแก้ปัญหาขยะเป็นวาระชาติ แต่เมื่อมีการสั่งการให้แต่ละจังหวัดส่งแผนการกำจัดขยะออกมาตามโรดแม็ป กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร เพราะมีไม่กี่จังหวัดที่ส่งแผนการกำจัดขยะมาตามโรดแม็ป “ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” จึงมองว่า งานนี้ไม่ง่ายอย่างแน่นอน ถ้ารัฐบาลไม่เอาจริงเอาจัง โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายเอาผิดกับผู้ทิ้งผิดที่ผิดทาง โดยเฉพาะขยะอุตสาหกรรม แต่ที่เรามองว่าสำคัญที่สุด คือ การสร้างวินัยและจิตสำนึกคนในชาติ เพราะขยะและของเสียอันตราย เป็นปัญหาที่คอยแทรกซึมจนกลายเป็นบาดแผลที่เรื้อรังกัดกร่อนสังคมไทยมาช้านาน ซึ่งไม่ได้ส่งผลเสียเพียงสภาวะสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบขั้นรุนแรงไปถึงสุขภาวะและคุณภาพชีวิตด้วย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะสร้างจิตสำนึกและวินัยในการจัดเก็บและจัดการ “ขยะ” โดยเริ่มที่ตัวเรา ฤา จะต้องรอให้สายจนเกินแก้ เมื่อถึงวันที่ “ขยะ” ท่วมประเทศของจริง! ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม post on Wednesday 21st January 2015.
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 60.29 KBs
Upload : 2015-01-21 13:57:38
|

Size : 101.06 KBs
Upload : 2015-01-21 13:57:38
|

Size : 76.27 KBs
Upload : 2015-01-21 13:57:38
|
|
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
|
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์
|
|
|
|
วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพฯ10240
|
Generated 0.023538 sec. |
|
|
|
|
|
|