Frankshin Article
วิกฤติขยะ ปี 2558
จับตา 'วิกฤติขยะ ปี 2558' ล้นเมืองก่อมลภาวะ
โดย ทีมข่าวภูมิภาค นสพ.ไทยรัฐออนไลน์ 1 ม.ค. 2558 05:31
ตลอดปี 2557 ที่ผ่านมา ทั่วประเทศประสบกับ ปัญหาวิกฤติขยะ และมีอภิมหากองขยะที่หมักหมมมายาวนาน ที่ยังไม่สามารถกำจัดได้หมดและนับวันจะเพิ่มทวีมากขึ้น ในขณะที่กระบวนการกำจัด ขยะตกค้างไม่ได้รับความสนใจทำกันอย่างจริงจังเท่าที่ควร จนกระทั่งหลังเดือนสิงหาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาแก้ปัญหาประเทศ และมี รัฐบาลชุดปัจจุบัน เข้าบริหารประเทศ ได้จับเรื่อง
ขยะล้นเมือง เป็น วาระแห่งชาติ ที่ต้องเร่งแก้ไขวาง “โรดแม็ป” การกำจัดขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายให้หมดไปในระยะเร่งด่วนและระยะยาว
พร้อมกันนี้รัฐบาลสนับสนุนในเรื่องการกำจัดขยะให้หมดสิ้น โดยเฉพาะการสร้างเตาเผาขยะและนำพลังงานความร้อนจากการเผาขยะมาผลิตไฟฟ้า หรือที่เรียกติดปากว่า “โรงไฟฟ้าขยะ” ส่วนแผนงานที่ กรมควบคุมมลพิษ นำเสนอไว้ คือ 1.เร่งทำขยะมูลฝอยสะสมในสถานที่กำจัดให้หมดไปจากพื้นที่วิกฤติ 2.นำรูปแบบการจัดการขยะใหม่มาใช้ให้เหมาะสม 3.จัดระเบียบบริหารจัดการให้เป็นรูปธรรม 4.กระตุ้นวินัยคนในชาติร่วมกันจัดการขยะอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการทำงานแยกย่อยอีก 10 แนวทาง จากการสำรวจปี 2556 ของ กรมควบคุมมลพิษ จัดอันดับจังหวัดที่มีขยะสะสมสูงสุดต่อวัน 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.สงขลา 2.สมุทรปราการ 3.กาญจนบุรี 4.นครศรีธรรมราช 5. เพชรบุรี 6.สุราษฎร์ธานี 7.ราชบุรี 8.ขอนแก่น 9.ปราจีนบุรี 10.พระนครศรีอยุธยา มาถึงปี 2557 คงไม่ต้องมองไปถึงพื้นที่ 10 จังหวัดขยะตกค้างมากที่สุดของประเทศที่เคยสำรวจไว้ เพียงขยะเก่าสะสมในพื้นที่วิกฤติ 6 จังหวัดที่ต้องกำจัดอย่างเร่งด่วนให้ได้ 11.05 ล้านตันภายใน 1 ปี ประกอบด้วย จ.สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม สระบุรี พระนครศรีอยุธยา และ ลพบุรี ด้วยงบกว่า 526 ล้านบาท ดูแล้วยังไม่ไปถึงไหน เริ่มจาก จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่สุด ประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ต้องแบกรับขยะตกค้างมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศกว่า 10 ล้านตัน
การทำงานในการดูแลของ นายพินิจ หาญพาณิชย์ ผวจ.สมุทรปราการ ยังอยู่เพียงขั้นตอนที่ 1 คือ ฟื้นฟูพื้นที่ฝังกลบและคัดแยกขยะนำไปฝังกลบในพื้นที่ฝังกลบของเอกชนบริเวณ ซอยขจรวิทย์ ต.แพรกษาใหม่ อ.เมืองสมุทรปราการ ซึ่งเป็นบ่อฝังกลบขยะที่มีอยู่แห่งเดียวในขณะนี้ หลังจาก บ่อขยะ ของ อบต.แพรกษา ซึ่งลักลอบนำกากอุตสาหกรรมและขยะทิ้งเกินกำหนด จนเกิดปฏิกิริยาเคมีไฟลุกไหม้ครั้งใหญ่ สร้างความเสียหายและมลภาวะเป็นวงกว้างเมื่อเดือนมีนาคม 2557 จึงถูกสั่งปิดอย่างถาวรพร้อมกับบ่อขยะที่ ต.บางปลา อ.บางพลี ส่วนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะชุมชนของเอกชนใกล้กับบ่อขยะที่เหลืออยู่นี้ โดยจะใช้ขยะจากบ่อฝังกลบเป็นวัตถุดิบก็ยังไม่รู้จะใช้งานได้เมื่อไหร่
จ.ปทุมธานี ขยะเก่าสะสมแม้มีเพียง 50,000 ตัน แต่การเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมถึง 2 แห่ง คือ นิคมฯนวนคร และ นิคมฯบางกระดี กากอุตสาหกรรมของเสียอันตรายจากโรงงานกับขยะชุมชนซึ่งมาจากประชาชนโดยรวมกว่า 1.4 ล้านคน ยังเป็นเพียงการนำไปฝังกลบในบ่อขยะที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.สระบุรี รูปแบบใหม่ ๆ จึงยังมองไม่เห็น ยิ่งมี รถไฟฟ้าสายสีแดง และ สายสีเขียว เกิดขึ้น หลับตานึกภาพการขยายตัวของชุมชนจะเพิ่มปริมาณขยะมหาศาล
จ.นครปฐม ขยะตกค้างกว่า 2.9 แสนตัน ยังถูกฝังกลบอยู่ในบ่อขยะกลางทุ่งนาพื้นที่ 205 ไร่ของเทศบาลนครนครปฐม ที่ ต.ตาก้อง อ.เมืองนครปฐม แม้จะตั้งงบฯ กว่า 261 ล้านบาท เพื่อขนย้ายให้หมดไปภายในเวลา 90 วัน ขณะนี้ก็ยังหมักหมมไม่ขยับขยายไปที่ไหน เพราะยังหาผู้รับเหมาขนย้ายออกไปฝังกลบที่ อ.กำแพงแสน ไม่ได้ สาเหตุเพราะในสัญญาจ้างกำหนด การทำงานต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนในเส้นทางที่ลำเลียงผ่านไป อีกทั้งต้องขนขยะไม่ต่ำกว่าวันละ 100 เที่ยวเพื่อให้ทันกำหนด ส่งผลให้รถมีไม่เพียงพอ จึงบอกปัดไม่รับงานถึงบัดนี้ รอเอกชนที่กำลังสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าเมื่อ แล้วเสร็จจะช่วยระบายขยะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าได้
จ.พระนครศรีอยุธยา หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทุ่มงบฯ 500 ล้านบาทแก้ปัญหาขยะอย่างเร่งด่วน จึงหมายมั่นให้จังหวัดแห่งนี้เป็นพื้นที่นำร่องบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน ตั้งเป้า 6 เดือน ขยะเก่าสะสมจาก อปท.ต่างๆกว่า 224,000 ตัน ต้องหมดไปจากพื้นที่ 30 ไร่ ที่ ต.บ้านป้อม แต่จากการเปิดเผยของ นายปรีชา ขันธไพศรี รองนายกเทศมนตรี ทำให้รู้ว่าเทศบาลอยู่ในช่วงเตรียมใช้งบฯของ กระทรวงมหาดไทย 372 ล้านบาท ขนย้ายไปทิ้งในพื้นที่แห่งใหม่ใกล้กับชุมชนบางบาล-มหาพราหมณ์ ห่างจากจุดเดิม 6 กม.ราวเดือนมีนาคม 2558 แ
ต่ยังหาผู้รับเหมาไม่ได้เช่นกัน โรงงานแปลงขยะเป็นไฟฟ้าจึงยังเป็นเรื่องไกลตัว
จ.ลพบุรี การแก้ปัญหาขยะเก่าสะสมกว่า 153,000 ตัน ซึ่งมาจากพื้นที่ อ.เมือง และ อบต.อีก 9 แห่ง ก็ยังไม่ถึงไหน กำลังจัดหาผู้รับเหมาลำเลียงขยะกองสูงกว่า 5 เมตรออกจากพื้นที่ฝังกลบเพียงแห่งเดียวของเทศบาลเมืองลพบุรี ริมคันคลองชลประทานลพบุรี-บ้านหมี่ ต.ท่าแค
ยังดีที่โรงปูนเอกชนที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ลำเลียงขยะออกไปใช้ประโยชน์แบบฟรี ๆ วันละประมาณ 200 ตัน
นอกจากนี้ยังกำลังเจรจากับ บริษัท เด็มโก้ จำกัด ที่ขอเช่าพื้นที่ใกล้บ่อขยะสร้างโรงงานบริหารจัดการกำจัดขยะแปลงพลังงานมาผลิตไฟฟ้า
ลงใต้ไปดูตัวอย่างจังหวัดที่ขยะตกค้างมากที่สุดซึ่งอยู่ในข่าย 10 จังหวัดที่เคยสำรวจไว้ อย่างเช่น จ.นคร-ศรีธรรมราช นายเชาวน์วัศ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ออกปากยอมรับยังแก้ปัญหา ไม่ตก ขยะยังกองเป็นภูเขากว่า 1.2 ล้านตัน อยู่ในพื้นที่กว่า 70 ไร่ด้านทิศใต้ของ สวนสาธารณะสมเด็จพระ-ศรีนครินทร์ 84 ทุ่งท่าลาด ต.นาเคียน อ.เมือง ในการดูแลของเทศบาล รวมกับขยะจาก 57 อปท. ที่เข้าไปเพิ่มวันละ 250 ตัน
โรงงานแปรรูปขยะแปลงพลังงานมาผลิตไฟฟ้าก็ยังหาคนก่อสร้างไม่ได้ ชาวบ้านจึงต้องทนเหม็นกลิ่นขยะที่รุนแรงและมลภาวะกันต่อไป
ยังดีที่ จ.สงขลา เมืองท่องเที่ยวและการค้าสำคัญของภาคใต้แก้ปัญหาลงได้บ้าง
นายธำรงค์ เจริญกุล ผวจ.สงขลา เผยว่า จากข้อมูล สนง.สิ่งแวดล้อมที่ 16 เมื่อปี 2556 ระบุว่าปริมาณขยะจากประชากรกว่า 1.6 แสนคนใน อ.หาดใหญ่ เพิ่มขึ้นวันละ 170-180 ตัน จึงเข้าไปสะสมอยู่ใน บ่อขยะเทศบาลนครหาดใหญ่ มากกว่า 1 ล้านตัน แต่หลังจาก นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรี เดินหน้าเปิดโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่
โดยนำเทคโนโลยี Ash Melting Gasification มาใช้ก็สามารถนำขยะกว่า 250 ตัน/วันไปกำจัด และแปรรูปพลังงานมาผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 6 เมกะวัตต์
จึงเตรียม ต่อยอดวางโครงการสร้างเพิ่มที่เขต เทศบาลนครสงขลา, เทศบาล ต. บ้านพรุ และ เทศบาล ต.ระโนด จ.ภูเก็ต ขยะที่เกิดขึ้นวันละมากกว่า 1 พันตันสะสมอยู่ในบ่อขยะของเทศบาลนครภูเก็ตใกล้ ชุมชนคลองเกาะผี ต.วิชิต กว่า 9 แสนตัน วันนี้เต็มทั้ง 5 บ่อ ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปทั่ว จึงอาศัยเตาเผาขยะของเอกชนขนาด 350 ตัน 2 ชุด อยู่ใกล้ๆ กันรื้อขยะนำเข้าระบบเผาผลิตเป็นไฟฟ้าได้วันละ 700 ตัน ขณะที่โรดแม็ปจัดการขยะในปี 2558 ของ นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผวจ.ภูเก็ต โครงการใช้ระบบรื้อและร่อนขยะจำนวน 3 แสนตัน ไปทำเชื้อเพลิงก็ยังต้องรอดูว่าจะประสบความสำเร็จแค่ไหน
จ.สุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะ อ.เกาะสมุย แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังติดอันดับโลก นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย เผยว่า เทศบาลได้สานนโยบายการกำจัดของ คสช. หลังแนวโน้มปัญหาขยะเพิ่มสูงขึ้นจนหลายปีที่ผ่านมา เตาเผาขยะที่มีอยู่ 2 เตาในพื้นที่ ม.5 ต.มะเร็ต ชำรุดใช้งานไม่ได้ งบประมาณที่ภาครัฐเคยให้การช่วยเหลือปีละ 49 ล้านบาทก็ถูกตัดไป ต้องทุเลาปัญหาฝังกลบเกิดมลภาวะด้วยการนำผ้ายางปูรองพื้นบ่อขยะไม่ให้น้ำเสียไหลลงไปในแหล่งน้ำข้างเคียง
ส่วนแนวคิดนำขยะขึ้นไปฝังกลบบนฝั่ง ต้องใช้งบฯสูง ต้องมีเรือลำเลียงขยะเอง ที่ทำๆ กันอยู่เป็นการให้บริษัทรับเหมาคัดแยกขยะนำไปรีไซเคิล ที่ใช้ไม่ได้ก็นำไปฝังกลบต่อไป
จ.ขอนแก่น จากข้อมูลสำนักงานสิ่งแวดล้อมภูมิภาคที่ 10 ระบุว่า ขยะเก่าจาก 26 อำเภอตกค้างมากเป็นอันดับ8 ของประเทศและอันดับ 1 ของภาคอีสานกว่า 8 แสนตัน
ขณะที่ยังมีขยะใหม่เข้ามาเพิ่มเติมวันละ 1,224 ตัน โดยมีขยะติดเชื้อและขยะอันตรายรวมอยู่ด้วย ซึ่งกำลังรอเตาเผาขยะของเอกชนที่กำลังสร้าง และถ้าสร้างเสร็จได้จริงในราวเดือนตุลาคม 2558 ก็จะกำจัดขยะเก่าและใหม่ได้วันละ 450 ตัน หรือหมดไปในเวลา 7 ปี แถมยังได้ไฟฟ้าใช้ด้วย
จ.เชียงใหม่ พื้นที่ทั้ง 25 อำเภอ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของขยะวันละกว่า 1,700 ตัน มาจากชุมชนต่าง ๆ ร้อยละ 80 ยังจัดจ้างเอกชนนำขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่เพิ่มขึ้นทุกวันไปฝังกลบ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ เผยว่า แม้จัดโซนทิ้งขยะไว้อย่างดี 3 โซน แต่วันนี้นำไปทิ้งได้ในโซนใต้ อ.ฮอด เท่านั้น ซึ่งยังรองรับขยะจากตัวเมืองหลายร้อยตันได้ ส่วนโซนกลาง อ.ดอยสะเก็ด และโซนเหนือ อ.ฝาง กำลังประสบปัญหาพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการรองรับขยะได้อีก
บางแห่งการดำเนินงานที่ทำกันไม่ถูกวิธีจึงถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ ยิ่งโครงการตั้งโรงงานเผาขยะแปลงพลังงานมาผลิตไฟฟ้า แต่ละโซนต้องใช้งบไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท
ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับจากส่วนกลาง ที่น่าห่วงใยอีกคือ
“กากขยะอุตสาหกรรม” ที่กำลังเป็นปัญหาของโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพราะยังระบายออกไปกำจัดไม่ได้
จากข้อมูลของผู้ประกอบการพบว่า ปัจจุบันสำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม พิจารณาคำขออนุญาตนำออกไปกำจัดล่าช้า จากที่เคยลำเลียงออกไปสัปดาห์ละ 3-5 เที่ยว ปัจจุบันแม้จะทำเรื่องจากโรงงานผ่านระบบออนไลน์ ล่วงเข้า 4 เดือนก็ยังไม่พิจารณาค้างเติ่งอยู่กว่า 2 พันเรื่อง เมื่อประมวลภาพการทำงานของ หน่วยงานภาครัฐ และ ท้องถิ่น ยังมีสภาพเป็น “วัวพันหลัก”
ใช้วิธีการขนย้ายขยะไปฝังกลบ เป็นวิธีล้าสมัยเก่าแก่กว่า 30 ปี ที่สำคัญยัง
เข้าไม่ถึงเทคโนโลยียุคใหม่ที่สามารถนำขยะไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงปูนซีเมนต์ หรือโรงผลิตกระแสไฟฟ้า
ลดค่าใช้จ่ายการจัดการขยะแบบเก่า ๆ ได้มหาศาล
ปี 2558 จึงคงเป็นอีกปีที่จะเกิดวิกฤติขยะล้นเมืองและก่อมลภาวะ เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลต้อง สั่งการให้ทุกหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข เพื่อไม่ให้ขยะหมักหมมเพิ่มพูนจนล้นต่อไปอีก.
ทีมข่าวภูมิภาค
post on Wednesday 21
st
January 2015.
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Size : 65.39 KBs
Upload : 2015-01-21 14:23:58
Size : 53.20 KBs
Upload : 2015-01-21 14:23:58
ติชม
กำลังแสดงหน้า
1/0
<<
1
>>
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :
Frankshin
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์
วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240
Generated 0.032744 sec.