Frankshin Article


กฎหมายงาช้าง
เจาะลึก 'กฎหมายงาช้าง พ.ศ.2558' ช่วยชีวิต 'สัตว์คู่บ้านคู่เมือง' : สกัดขบวนการ'ล่า-ฆ่า'ช้าง
โดย ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม ไทยรัฐออนไลน์  3 ก.พ. 2558 05:15 

ช้าง สัตว์ที่ได้ชื่อว่าเป็น “สัตว์คู่บ้านคู่เมือง” ของประเทศไทย มาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แต่น่าเศร้าใจที่ในยุคปัจจุบันช้างกลับถูกไล่ล่า ถูกฆ่า เพื่อเอางารวมถึงอวัยวะต่างๆมาขาย จากขบวนการค้าช้างทั้งในประเทศและข้ามชาติ จนประชากรช้างในประเทศไทยลดลงอย่างน่าวิตก โดยคาดว่า ปัจจุบันมีช้างป่า เหลืออยู่เพียง 3,700 ตัว และช้างบ้าน 4,000 เชือก เท่านั้น และแล้วในที่สุดสิ่งที่น่ายินดีก็เกิดขึ้น นั่นคือการทำคลอดกฎหมายงาช้าง พ.ศ.2558 สำเร็จและมีผลบังคับใช้เรียบร้อยแล้ว หลังมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2558ที่ผ่านมา

จุดประสงค์สำคัญคือ เพื่อควบคุมการค้า การครอบครอง การนำเข้า การส่งออก และการนำผ่าน ซึ่ง “งาช้าง” หรือ “ผลิตภัณฑ์ที่ทําจากงาช้าง” รวมถึงการลักลอบนำเข้างาช้างแอฟริกา เพื่อนำมาค้า หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทําจากงาช้าง กฎหมายใหม่ฉบับนี้ ซึ่งมีรวม 20 มาตรา ถือว่ามีความสำคัญ เพราะจะสามารถช่วยชีวิต “ช้าง” จากการไล่ล่า และฆ่าอย่างเลือดเย็น ได้ในระดับหนึ่ง

โดยเฉพาะสาระสำคัญอยู่ที่ มาตรา 6 ที่ระบุว่า...ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งงาช้างโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า ให้มาแจ้งการครอบครองพร้อมเอกสารการได้มาซึ่งงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์ พาหนะต่ออธิบดีฯกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เพื่อออกเอกสารการครอบครองงาช้างให้แก่ผู้แจ้งการครอบครองไว้เป็นหลักฐาน...

...ในกรณีที่ตรวจพบหรือมีเหตุอันควรสงสัยในภายหลังจากที่ได้รับแจ้งการครอบครอง ว่า งาช้างใดมิใช่งาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ อธิบดีฯอาจมีคำสั่งให้ผู้ครอบครองนำเอกสารหรือหลักฐานมาพิสูจน์ได้...
แต่หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่างาช้างในความครอบครองเป็นงาช้างที่ได้มาจากช้างที่เป็นสัตว์พาหนะ ให้งาช้างนั้นตกเป็นของแผ่นดิน และให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบงาช้างให้แก่กรมอุทยานฯ ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งจากอธิบดีฯ...

นอกจากนี้ มาตรา 7 ระบุว่า ในกรณีผู้ครอบครองประสงค์จะโอนการครอบครอง เปลี่ยนแปลงสถานที่ครอบครอง แปรสภาพ หรือเปลี่ยนรูปร่างงาช้างที่อยู่ในความครอบครอง ต้องแจ้งเป็นหนังสือต่ออธิบดีฯก่อนวันที่จะมีการดำเนินการ

ขณะที่ มาตรา 9 ที่ระบุชัด กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้ค้างาช้างในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทําการของสถานที่นั้นเพื่อตรวจสอบ หากมีเหตุสงสัยว่ามีการกระทําความผิด ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจยึดหรืออายัดงาช้าง เอกสาร หรือหลักฐานหรือวัตถุใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อประ-โยชน์ในการตรวจ สอบหรือดำเนินคดี โดยมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนระบุว่า หากไม่ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดีฯ หรือนำเข้า ส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือมีงาช้างไว้ครอบครองโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า แต่ไม่มาแจ้ง หรือโอนการครอบครอง เป็นหนังสือต่ออธิบดีฯก่อนวันที่จะมีการโอนการครอบครอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท และหากไม่อำนวยความสะดวกตามสมควรในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน เจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท

“ดังนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 1.การครอบครองและการค้างาช้างบ้าน และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างบ้าน จะถูกควบคุมอย่างเข้มงวด 2.กรณีที่พบว่ามีการค้าหรือครอบครองงาช้างแอฟริกาที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายถือเป็นความผิดทันที 3.การตรวจพิสูจน์ชนิดงาช้าง สามารถทำได้โดยการตรวจดีเอ็นเอ โดยภาระในการตรวจพิสูจน์เป็นของผู้ครอบครองและผู้ค้า”

นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบขยายความหมายของกฎหมายงาช้าง พ.ศ.2558 อธิบดีกรมอุทยานฯ ยังฉายภาพแนวทางในการปฏิบัติเพื่อขานรับกฎหมายฉบับนี้ด้วยว่า สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ต้องดำเนินการ คือ ให้ประชาชนที่ครอบครองงาช้างบ้านหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้างบ้าน รวมทั้งผู้ค้างาช้างบ้าน มาจดทะเบียนการครอบครองและขออนุญาตค้างาช้างบ้าน โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ดังต่อไปนี้
1.ผู้ที่มีงาช้างบ้านรวมถึงสิ่งของใดๆ ที่ทำจากงาช้างบ้านไว้ในครอบครอง ต้องแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยในท้องที่กรุงเทพมหานคร สามารถแจ้งการครอบครองได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ส่วนท้องที่ต่างจังหวัด แจ้งการครอบครองได้ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขาทุกสาขา ภายในวันที่ 21 เม.ย.2558นี้ หรือสามารถแจ้งการครอบครองได้ทางไปรษณีย์ที่ ตู้ ปณ.555 ปณศ.จตุจักร กทม.10900 ในกรณีมีไว้ในครอบครองโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า อย่างละไม่เกิน 2 ชิ้นต่อคน รวมไม่เกิน 4 ชิ้นต่อคน และไม่เกิน 12 ชิ้นต่อครัวเรือน และน้ำหนักรวมไม่เกิน 0.5 กิโลกรัม อาจใช้สิทธิ์ไม่ต้องแจ้งการครอบครองได้ แต่จะไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หรือทำการค้าได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดก โดยผู้รับมรดกต้องครอบครองไม่เกินจำนวนดังกล่าวด้วย

2.ผู้ที่ประสงค์จะค้างาช้าง ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

และ 3.การนำเข้า-ส่งออกงาช้างต้องได้รับอนุญาตและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่กระทรวงทรัพยากรฯ กรมอุทยานฯและ หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ยังได้ดำเนินการออกกฎหมายลำดับรอง รวม 17 ฉบับเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพอย่างเข้มข้น

“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” เห็นด้วยกับกฎหมายงาช้างฉบับนี้ รวมถึงการออกกฎหมายอีก 17 ฉบับที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงถึงความจริงใจ และจริงจังในการสกัด และนำไปสู่การกำจัดขบวนการ “ล่า-ฆ่า” ช้างให้หมดจากแผ่นดินไทย เพราะเรามองว่าการฆ่าช้าง เอางาถือเป็นวิกฤตการณ์สำคัญ ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือประเทศไทยถูกมองว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของงาช้าง จนมีการกล่าวกันว่า ตลาดค้างาช้างในไทยใหญ่ไม่เป็นรองประเทศใด ถึงเวลาแล้วที่คนไทย จะต้องร่วมกันแสดงความรักช้าง ปกป้องช้าง หยุดขบวนการอันเหี้ยมโหดที่ทำให้ประเทศไทยต้องตกเป็นแหล่งฟอกงาช้างผิดกฎหมายอีกต่อไป...

ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม

post on Tuesday 10th February 2015.









รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 76.85 KBs
Upload : 2015-02-10 14:27:51

Size : 72.30 KBs
Upload : 2015-02-10 14:27:51

Size : 107.25 KBs
Upload : 2015-02-10 14:27:51

Size : 61.06 KBs
Upload : 2015-02-10 14:27:51
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


Frankshin
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์


วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240

Generated 0.028269 sec.