Frankshin Article


ธรรมะสำหรับนักการทูต
เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ธรรมะสำหรับนักการทูต มติชนออนไลน์
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เวลา 16:30:44 น คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ

คุยกับเพื่อนคนหนึ่งด้วยเรื่องจิปาถะ แล้วลงท้ายด้วยเรื่องธรรมะธัมโมตามประสาคนเคยบวชเรียน เพื่อนปรารภว่า ปัจจุบันนี้หนังสือประเภท HOW TO หรือเทคนิคเพื่อความสำเร็จในด้านต่างๆ ออกมามากมาย เช่น จะเป็นนักบริหารที่ดีจะต้องทำอย่างไร นักการค้าจะประสบความสำเร็จจะต้องทำอย่างไร เทคนิคการขายที่ดีจะต้องทำอย่างไร เล่นหุ้นให้ร่ำรวยต้องทำอย่างไร ฯลฯ หนังสือประเภทนี้ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านมากมาย เพราะใคร ๆ ก็ต้องการความสำเร็จในชีวิต ปรารภแล้วก็หันมาถามผมว่า

ในทางพระพุทธศาสนามีหลักคำสอนประเภทนี้ บ้างไหม ในพระไตรปิฎก 45 เล่ม บรรจุธรรม 84,000 พระธรรมขันธ์ที่ว่าน่ะ ผมรีบตอบว่ามีสิวะ ไม่มีได้อย่างไร พระไตรปิฎกตั้งหลายเล่มใหญ่ๆ เรื่องพื้น ๆ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้แน่นอน ขนาดเรื่องสำคัญกว่านี้ท่านยังสอนไว้เลย เช่น จะพ้นทุกข์ต้องทำอย่างไร อะไรอย่างนี้ เพื่อนถามว่าแล้วว่าอย่างไรบ้างล่ะ ผมรีบตัดบทว่า ว่าอย่างไรบ้างนั้น เอาไว้โอกาสหน้าจะเล่าให้ฟัง คอยอ่านมติชนก็แล้วกัน ผมเขียนอยู่ประจำ (โบ้ยให้เสียเงินซื้อหนังสือพิมพ์เสียเลย ที่จริงยังนึกตอนนั้นยังไม่ออกต่างหาก ฮิฮิ)

ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีทั้งแง่บวกและแง่ลบ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้สอนพระพุทธศาสนาในบ้านเมืองเรามักจะเน้นกันเฉพาะในแง่ลบ จึงทำให้คนบางคนหรือหลายคนเข้าใจว่า ธรรมะทางศาสนาเป็นเรื่อง 'ทวนกระแส' หรือขัดแย้งกับการดำรงชีวิตในทางโลก เช่น เข้าใจว่า เราทุกคนต้องการความเจริญก้าวหน้า สร้างสรรค์งานเพื่อความสำเร็จหรือเจริญรุ่งเรืองแก่ชีวิต คนจะสร้างสรรค์งานต่าง ๆ หรือพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้ ก็ต้องมีความปรารถนามีความอยากที่จะทำ ถ้าปราศจากความอยากแล้ว คนเราก็ไม่ทำอะไรคงจะต้องงอมืองอเท้า ทอดอาลัยตายอยาก

แต่พระพุทธศาสนาเสนอให้คนลดละความอยาก เห็นว่าความอยากไม่ดี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนขัดแย้งต่อการพัฒนาอะไรทำนองนี้ ที่จริงก็มีเหตุผลสมควรที่จะเข้าใจเช่นนี้ เพราะผู้สอนพระศาสนา (ส่วนมากก็พระสงฆ์องค์เจ้า) ท่านก็มักเน้นเสมอว่า ความอยากเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ เพราะฉะนั้นถ้าจะดับทุกข์ได้ก็ต้องลดละความอยากให้ได้ ท่านเน้นในแง่ลบตลอดเวลาว่า ความอยากไม่ดี ความอยากเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ต้องละความอยาก ท่านไม่พูดในแง่บวกว่า ความอยากที่ดีที่ควรพัฒนาก็มี ไม่ใช่ว่า ขึ้นชื่อว่าความอยากแล้ว จะเป็นสิ่งเลวร้ายที่จะต้องลดต้องละเสมอไป ถึงตรงนี้เป็นหน้าที่ของท่านผู้สอนพระพุทธศาสนาจะต้องแยกแยะทำให้กระจ่างคือ ต้องแยกว่า

ความอยากมีอยู่ 2 ชนิดคือ 1.ความอยากที่ต้องลดต้องละ เรียกว่า 'ตัณหา' 2.ความอยากที่ต้องเพิ่มต้องพัฒนา เรียกว่า 'ฉันทะ' (หรือธรรมฉันทะ)
(1) ความอยากที่เรียกว่าตัณหา เป็นความอยากด้วยอำนาจแห่งความโลภอยากได้ของคนอื่น ในทางที่ทุจริตผิดศีลธรรมผิดกฎหมาย เช่น อยากได้เงินหรือสมบัติพัสถานอันเป็นของคนอื่น ด้วยวิธีการอันไม่สุจริต เช่น ฉ้อโกง หรือลักขโมยเขามา ความอยากอย่างนี้เป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ ควรที่จะลดละเสีย หากปล่อยให้เข้าครอบงำจิตมากเข้า ๆ มันจะไม่ใช่แค่อยากอยู่แค่นั้น มันอาจก่อให้เกิดพฤติกรรม คือลงมือทำจริง ๆ
(2) ความอยากที่เรียกว่าฉันทะ นั้นเป็นความใฝ่ดี ใฝ่ถูกต้อง ที่ผสมความสุจริตและความพากเพียรอยู่ด้วย เช่น อยากได้สองขั้น รู้ว่าสองขั้นเป็นบำเหน็จความดีความชอบสำหรับคนทำงานซื่อสัตย์สุจริตมีผลงานปรากฏ ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงานในหน้าที่อย่างขยันหมั่นเพียรซื่อสัตย์สุจริต ความอยากอย่างนี้ควรที่จะพัฒนาให้เกิดมีในตนให้มาก ยิ่งมีมากก็ยิ่งสร้างสรรค์สังคม ความอยากอย่างนี้แหละที่พระพุทธศาสนาต้องการ

จะเห็นได้ว่า ความอยากมีทั้งแง่ลบและแง่บวก หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ความอยากมีทั้งอยากดีและอยากไม่ดี ต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่าอยากแบบไหน ไม่ใช่ว่าพูดรวม ๆ ไม่แยกแยะ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเปล่า ๆ เข้าใจผิดคนเดียวยังไม่พอ พลอยเหมาเอาว่าพระพุทธศาสนาสอนผิดอีกด้วย บาปกรรมเปล่า ๆ ปลี้ ๆ

วันนี้ขอยกตัวอย่างธรรมะฮาวทูสักเรื่อง เผื่อว่าท่านที่ต้องการความสำเร็จในชีวิตจะได้นำไปปฏิบัติดู การทำงานจะประสบความสำเร็จจะต้องทำอย่างไรนั้น ทุกคนรู้แล้ว ได้แก่ ฉันทะ (พอใจทำ) วิริยะ (ขยันทำ) จิตตะ (เอาใจจดจ่อแบบกัดไม่ปล่อย) และวิมังสา (ใช้ปัญญาไตร่ตรอง) อันนี้รู้กันดีแล้ว ไม่ต้องฉายซ้ำ ที่จะนำมากล่าวนี้ยังไม่เคยฉายกันบ่อยนัก ขอนำมาฉายไว้ในที่นี้เสียเลย การเป็นนักการทูตที่ดี จะต้องมีคุณสมบัติ 8 ประการคือ
1) รู้จักพูด หรือพูดเป็น ว่ากันว่าคนจะเป็นนักการทูต ไม่ควรปฏิเสธอะไรเด็ดขาด ถ้าพูด 'เยส' ก็หมายความว่า 'เพอร์แฮปส์' ถ้าพูด 'เพอร์แฮปส์' ก็หมายความว่า'โน' ถ้านักการทูตคนไหนพูด 'โน' แสดงว่ามิใช่นักการทูต ใครไม่รู้พูดไว้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสทำนองเดียวกัน คือเป็นนักการทูตต้องรู้จักพูด หรือพูดเป็น จะปฏิเสธอะไรเขาก็ปฏิเสธให้นุ่มนวล ไม่ให้ผู้ถูกปฏิเสธเสียกำลังใจ
2) รู้จักฟัง มิใช่เอาแต่พูดอย่างเดียว ต้องฟังคนอื่นพูดด้วย การตั้งใจฟังเขาพูด ทำให้เขายินดีที่จะเปิดเผยอะไรให้เราทราบ และเราก็ได้ความรู้จากเขาด้วย
3) เรียนรู้อยู่เสมอ อย่าคิดว่าตนรู้แล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องหลายอย่างที่ตนยังไม่รู้ ความใฝ่รู้นี้แหละเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในอาชีพการงาน
4) มีความจำดี นักการทูตต้องมีความจำแม่น พยายามจดจำว่าตนพูดอะไรไว้เขาพูดอะไร ตกลงกันอย่างไร หรือเห็นอะไรก็จดจำไว้เพื่อประโยชน์ในการข้างหน้า
5) รู้อะไรก็รู้แจ่มแจ้ง ควรศึกษาให้รู้ในแต่ละเรื่องอย่างทะลุปรุโปร่ง ไม่ใช่รู้อย่างงูๆ ปลาๆ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับวิชาชีพของตน
6) อธิบายให้เขารู้แจ่มแจ้ง เพียงรู้แจ่มแจ้งยังไม่พอ ต้องมีความสามารถพิเศษในการถ่ายทอดให้คนเขารู้แจ่มแจ้งด้วย คือมีเทคนิคในการถ่ายทอดที่ดี
7) ฉลาดเอาประโยชน์ สิ่งใดไม่เป็นประโยชน์แก่ตนและประเทศชาติก็ละเว้นเสีย เลือกเอาเฉพาะที่จะเป็นประโยชน์
8) ไม่ชวนทะเลาะ เขาให้ไปเจรจาความเพื่อตกลงกันด้วยดี ก็ไม่ควรไปหาเรื่องทะเลาะเขา ควรรู้จักประสานประโยชน์

คุณสมบัติของนักการทูต 8 ประการ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 ใครจะคิดว่า พระไตรปิฎกก็พูดเรื่องพื้นๆ อย่างนี้ นึกว่าจะสอนแต่ทางพ้นทุกข์อย่างเดียว เรื่องทำนองนี้มีมากครับ คราวหน้าเห็นจะต้องยกมาแสดงให้ฟังอีก ดีไหม คราวนี้ขอเอวังเพียงแค่นี้

ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

post on Sunday 15th February 2015.







รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 33.03 KBs
Upload : 2015-02-15 23:37:12
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


Frankshin
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์


วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240

Generated 0.031782 sec.