Frankshin Article
ปลูกถ่ายตับ
โดยเฉลี่ยแล้วอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับชนิดปฐมภูมิโดยรวมใน 5 ปี อยู่ที่ 15% ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ สาเหตุสืบเนื่องมาจากผู้ป่วยส่วนมากมักมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย
เดลินิวส์ออนไลน์ วันอาทิตย์ 29 มีนาคม 2558 เวลา 05:00 น.
สาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้น ๆ ของประชากรไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับชนิดปฐมภูมิได้แก่
- ผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
- ผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี
- ผู้ที่มีประวัติมะเร็งตับชนิดปฐมภูมิในครอบครัว
- ผู้ที่มีภาวะตับแข็ง สืบเนื่องมาจาก ไวรัสตับอักเสบ การดื่มสุรา หรือ ภาวะไขมันเกาะตับ
โดยเฉลี่ยแล้วอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับชนิดปฐมภูมิโดยรวมใน 5 ปี อยู่ที่ 15% ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ สาเหตุสืบเนื่องมาจากผู้ป่วยส่วนมากมักมีภาวะตับแข็งร่วมด้วย ทำให้ทางเลือกในการรักษามีไม่มาก แพทย์ผู้ดูแลรักษาจะเลือกวิธีที่เหมาะสมและได้ประโยชน์กับผู้ป่วยที่สุด
โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่น สภาพตับของผู้ป่วย ปริมาณเนื้อตับที่ต้องตัดออก จำนวนและขนาดของเนื้องอก เป็นต้น
- การผ่าตัดนำเนื้องอกที่ตับออก (Liver resection, Hepatectomy) มักเป็นวิธีแรกที่แพทย์เลือก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะตับแข็ง หรือมีภาวะตับแข็งไม่มาก
อัตราการอยู่รอดชีวิตใน 5 ปีของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดอยู่ที่ 50% เนื่องจากการเป็นซ้ำของเนื้องอกในบริเวณตับส่วนที่เหลือ
หรือ ภาวะตับแข็งที่แย่ลง อย่างไรก็ตามการผ่าตัดถือเป็นการรักษาที่ความเสี่ยงต่ำ อัตราการเสียชีวิตจากการผ่าตัดอยู่ที่ 0-3 % จึงเหมาะสมที่จะเป็นทางเลือกแรกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ
- การใช้ความร้อนหรือแอลกอฮอล์ทำลายเนื้องอก (Radiofrequency ablation, Direct ethanol injection ) เหมาะสำหรับก้อนที่มีขนาด 2-3 เซนติเมตรที่ไม่สามารถผ่าตัดได้
- การใช้ยาเคมีบำบัดเฉพาะที่ผ่านหลอดเลือดแดง (Trans Arterial Chemo Embolization : TACE) เหมาะสำหรับกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้เนื่องจากสภาพการทำงานของตับไม่ดีพอ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ถ้าก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่มาก, ตับมีการทำงานที่แย่ลงหรือตับวาย ก็ไม่สามารถทำวิธีนี้ได้
-การปลูกถ่ายตับ (Liver Transplantation) เป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับชนิดปฐมภูมิที่ไม่สามารถผ่าตัดนำเนื้องอกที่ตับออกได้ เนื่องจากมีภาวะตับแข็ง และมะเร็งยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยมีหลักการคือ
นำเอาตับของผู้ป่วยออก และนำตับใหม่ใส่เข้าไป นอกจากจะเป็นการรักษามะเร็งตับแล้ว ยังเป็นการรักษาภาวะตับแข็งอีกด้วย
ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นมะเร็งตับระยะเริ่มต้น เช่น ก้อนขนาดไม่เกิน 5 เซนติเมตร หรือ มีก้อนไม่เกิน 3 ก้อน และแต่ละก้อนไม่เกิน 3 เซนติเมตร อัตราการอยู่รอดชีวิตใน 5 ปีหลังปลูกถ่ายตับอยู่ที่ 70-80%
ที่มาของตับใหม่อาจมาจากผู้บริจาคอวัยวะที่สมองตาย หรือมาจากตับส่วนหนึ่งของผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตซึ่งต้องเป็นบุคคลในครอบครัว
จะเห็นได้ว่าการปลูกถ่ายตับถือว่าเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับชนิดปฐมภูมิ และอาจเป็นทางเลือกสุดท้าย เนื่องจากการที่มีภาวะตับแข็งทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเลือกใช้วิธีการรักษาอื่นได้ มองในอีกมุมหนึ่ง การปลูกถ่ายตับให้อัตราการรอดชีวิตใน 5 ปีที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับการรักษาอื่น ๆ และมีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งต่ำกว่าวิธีอื่น ๆ
อย่างไรก็ตามการจะกล่าวว่าการปลูกถ่ายตับเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดนั้นอาจไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เนื่องจาก
- มีโอกาสที่ตับใหม่อาจจะไม่สามารถเข้ากับร่างกายของผู้ป่วยได้
- ตับใหม่ที่ปลูกถ่ายอาจทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร
- การขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะ ระหว่างที่รอมะเร็งอาจลุกลามเกินกว่าระยะที่เหมาะสมจะปลูกถ่ายตับ
- เป็นการผ่าตัดที่มีความซับซ้อนสูง มีโอกาสเกิดภาวะแทรก ซ้อนได้ เช่น มีโอกาสเสียเลือดมากในระหว่างผ่าตัด มีโอกาสที่เส้นเลือดต่าง ๆ ต่อไว้อาจมีปัญหาตีบแคบหรืออุดตันได้ หรืออาจมีภาวะท่อน้ำดีตีบหรือรั่วได้
- จำเป็นต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม ในสถาบันที่มีความชำนาญเกี่ยวกับการปลูกถ่ายตับ อัตราการเสียชีวิตจากการผ่าตัดอาจอยู่ที่เพียง 5% โดยอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีมของ ศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ อายุรแพทย์ และพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันปัญหาหลักของการปลูกถ่ายตับไม่ได้อยู่ที่ความซับซ้อนของการผ่าตัด แต่อยู่ที่การขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะ
ใ
นปี 2557 มีผู้ที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะประมาณ 4,000 กว่าคน แต่จำนวนผู้บริจาคอวัยวะมีอยู่เพียง 188 คนเท่านั้น
มีผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ วัฒนธรรมและความเชื่ออาจเป็นปัจจัยที่ทำให้การบริจาคอวัยวะในผู้ที่สมองตายยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
การปลูกถ่ายตับจากผู้มีชีวิตอาจเป็นทางออกวิธีหนึ่งซึ่งก็ต้องแลกมากับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับผู้บริจาค การบริจาคอวัยวะถือเป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายก่อนที่ผู้บริจาคจะเสียชีวิต
ผู้ที่มีจิตศรัทธาอาจแจ้งความจำนงได้ที่ศูนย์บริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย หรือ โรงพยาบาลจังหวัดใกล้บ้านท่าน.
นพ.สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี ศัลยศาสตร์ ตับ ทางเดินน้ำดี ตับอ่อน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
post on March30
th
,2015.
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Size : 55.23 KBs
Upload : 2015-03-30 20:08:02
Size : 42.87 KBs
Upload : 2015-03-30 20:08:02
ติชม
กำลังแสดงหน้า
1/0
<<
1
>>
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :
Frankshin
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์
วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240
Generated 0.032979 sec.