Frankshin Article
ทหารเกณฑ์
เลิกไพร่ แล้วก็กลายเป็นทหารเกณฑ์
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เวลา 22:25:00 น
เลิกไพร่ แล้วก็กลายเป็นทหารเกณฑ์ จากคอลัมน์ On History โดย ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ในวันที่ใครหลายคนพากัน...........ของน้องมาริโอ้ ใครเลยจะสนใจว่าเมื่อเรือน พ.ศ.2448 คือเมื่อ 110 ปีที่แล้ว สยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เริ่มต้นมีพระราชบัญญัติการเกณฑ์ทหารเป็นครั้งแรก และในปีเดียวกันนี้เองรัชกาลที่5ได้ทรงออกพระราชบัญญัติฉบับสำคัญในประวัติศาสตร์สยาม คือ 'พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ.124' โดยลงวันที่ 1 เมษายน อีกด้วย
วันที่ 1 เมษายน ตรงกับวันขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียมที่สยามใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 ซึ่งก็อยู่ในช่วงรัชสมัยเดียวกันนั้นเอง (ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นนับวันที่ 1 มกราคม ตามอย่างสากลแทนในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ.2484)
'พระราชบัญญัติเลิกทาส' จึงเป็นเหมือนกับ 'ของขวัญปีใหม่' สำหรับใครหลายคนในสยาม (และนานาชาติ) ไปด้วยในตัว แต่ก็นั่นแหละครับ หลังจากที่ประกาศเลิกทาสได้เพียงไม่กี่เดือน
'พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร รัตนโกสินทร์ศก 124' ก็ตามออกมาติดๆ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2448
ไพร่ทาสทั้งหลายถึงจะเฮกันออกมาได้ แต่ก็ไม่อยากจะเฮกันออกมาอย่างเต็มปากเต็มคำนัก อันที่จริงแล้ว รัชกาลที่ 5 ไม่ได้ทรงจะอยู่ ๆ ก็มีพระราชดำริให้เลิกทาสในปี พ.ศ.2448 ทีเดียวอย่างที่มักจะเข้าใจกัน เพราะการเลิกทาสของพระองค์มีกระบวนการที่เป็นขั้นเป็นตอน และต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลแล้วต่างหาก
วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2417 รัชกาลที่ 5 ทรงออก 'พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย' คือการแก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ เพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของค่าตัวทาส ซึ่งมักจะมีการโก่งและขึ้นราคา เนื่องจากนายทาสมักจะนิยมสะสมทาสเพื่อแสดงศักดิ์ และบารมีของตนเอง โดยพระราชบัญญัตินี้บังคับให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ
จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ แต่จะมีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2411 เป็นต้นมาเท่านั้น และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก
'การเลิกทาส' จึงเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง มีการวางแผนการจัดการ และดำเนินงานอย่างเป็นระบบ อย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 31 ปีเข้าไปแล้ว แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไมรัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราชดำริที่จะเลิกทาส? ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กันนั้น บรรณาธิการวารสารรายสามเดือนอย่าง ไซแอมรีโปซิตอรี (Siam Repository) ของ หมอสมิธ (Samuel John Smith) ซึ่งตีพิมพ์ในสยามช่วงระหว่างปี พ.ศ.2412-2420 เคยมีบทความตำหนิรัฐบาลสยามอย่างรุนแรง ด้วยเห็นว่า 'ในบรรดาประเทศเจริญทั้งหลาย พระเจ้าแผ่นดินก็ดี พวกขุนนางก็ดี ไม่มีสิทธิ์เกณฑ์แรงราษฎรผู้เสียภาษีอากรโดยไม่ให้อะไรตอบแทน' แต่ความตรงนี้หมอสมิธหมายถึง
ระบบ'ไพร่' ไม่ใช่ฐานันดร 'ทาส' ซึ่งเราคงจำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างคำศัพท์ทั้งสองคำนี้ รวมถึงลำดับฐานันดรในสังคมสยามแต่ดั้งเดิมเสียก่อน
'ไพร่' หมายถึง สามัญชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในฐานะทาส
หรือเจ้าขุนมูลนาย มีอิสระในการประกอบอาชีพ การตั้งบ้านเรือน มีครอบครัว แต่มีหน้าที่ในการถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเสีย 'ส่วย' และ
ถูกเกณฑ์ทหารในยามศึกสงคราม มีสองประเภทคือ ไพร่หลวง และ ไพร่สม
'ไพร่หลวง' พูดง่ายๆ ก็คือไพร่ที่ขึ้นตรงต่อกษัตริย์ ไพร่ชนิดนี้จะยอมจ่ายสตางค์ หรือส่งส่วยสิ่งของแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน ในกรณีนี้เรียกว่า 'ไพร่ส่วย'
ที่สำคัญคือกษัตริย์สามารถที่จะพระราชทาน ไพร่หลวง ให้แก่ขุนนางได้
ไพร่ประเภทนี้นี่แหละที่เรียกกันว่า 'ไพร่สม' มูลนายจะมีไพร่มากเพียงใดขึ้นอยู่กับ ยศ ตำแหน่ง ศักดินา โดยไพร่สมจะต้องทำงานปีละ 1 เดือน ส่วนเวลาที่เหลือต้องทำให้มูลนาย หรือส่งส่วยให้แทน หากมูลนายถึงแก่กรรม ไพร่สมจะถูกโอนกลับไปเป็นไพร่หลวง เว้นเสียแต่ว่าผู้บุตรจะขอควบคุมไพร่สมต่อจากบิดา
ส่วน
'ทาส' แม้จะมีอยู่มากมายถึง 7 ประเภท
แต่ส่วนใหญ่แล้วก็คือ
'ทาสสินไถ่'
'ทาสสินไถ่' หมายถึงทาสที่เกิดจากการที่พ่อแม่ขายบุตร หรือสามีขายภรรยา
ส่วนคนที่ยากจนจนหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ เลยต้องมาขายตัวเอง เรียกว่า
'ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก'
ยิ่งถ้าใครต้องคดีแล้วไม่สามารถจ่ายค่าปรับ ผู้ที่ออกสตางค์จ่ายค่าปรับให้ก็จะได้เป็นนายทาสของคนผู้นั้น ทาสประเภทนี้เรียกว่า
'ทาสที่ช่วยไว้จากโทษทัณฑ์'
สตรีที่เป็นทาส ไม่ว่าจะเป็นด้วยกรณีใดก็ตาม หากมีบุตรธิดา ลูกของพวกเธอก็จะถูกตีตราเป็น 'ทาสในเรือนเบี้ย' นับตั้งแต่เพิ่งตัดสายสะดือ ที่สำคัญคือทาสที่โอนผ่านกันเป็นมรดกได้นะครับ
ถ้านายทาสตาย บุตรของนายทาสก็จะได้รับมรดกมีชีวิตเหล่านี้ไว้เรียกว่า
'ทาสที่รับมาด้วยมรดก'
แถมนายทาสยังสามารถยกทาสของตนเองให้กับคนอื่นได้ด้วย ทาสประเภทนี้เรียกว่า
'ทาสท่านให้'
ส่วนทาสประเภทสุดท้ายเรียกว่า
'ทาสเชลย'
ซึ่งไม่ต้องอธิบายอะไรมากก็คงเข้าใจตรงกันว่าได้มาจากการสงคราม ตลกร้ายก็คือ
ทาสไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานไปช่วยหลวงเป็นประจำทุกปีเหมือนกับไพร่ แถมยังไม่ต้องหาส่วยไปส่งให้กับหลวง หรือมูลนายเสียด้วยซ้ำ กินก็กับนาย อยู่ก็กับนายนี่แหละครับ เรียกได้ว่าสบายกว่าไพร่ไปแปดอย่าง
การเกณฑ์แรงงานของหลวงนี่ก็คือสิ่งที่หมอสมิธตำหนิเอาไว้ในบทบรรณาธิการของวารสารตามข้อความที่ผมยกมาไว้ข้างต้นพูดง่าย ๆว่าเป็นการทำงานให้กับหลวงฟรี ๆ นั่นเอง จึงไม่น่าแปลกใจอะไรเลยที่ทั้งข้อมูล และผลการวิจัยหลาย ๆ ชิ้นจะชี้ให้เห็นว่า
ไพร่มักจะหนีไปบวช (เพื่อเปลี่ยนสถานภาพจากไพร่ไปเป็นพระ)
หรือหนีเข้าไปในป่าแล้วซ่องสุมกำลังกันเป็นซ่องโจร และก็พูดง่าย ๆ อีกทีหนึ่งว่าในระบบไพร่ ถ้าคุณไม่มีไพร่ ก็ไม่มีแรงงาน ในเมืองเหลือแต่ทาส ซึ่งไม่มีประโยชน์ในการผลิต และไม่ก่อรายได้ทางภาษี มีทาสก็หมดเปลืองทรัพยากรเปล่า ๆ รับใช้นายเงินเท่านั้น และทาสก็ขึ้นกับนายเงินอย่างเดียว (ในความสัมพันธ์ทางหนี้) ไม่ได้ขึ้นต่อมูลนายสูงสุด คือ กษัตริย์ (อย่างเช่นไพร่) เลย
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ ระบบไพร่ ก็คือเมื่อ ไพร่หลวง ออกจากกำกับของหลวง (คืออยู่ในบังคับของกษัตริย์ ผ่านทางกรม, กองต่างๆ อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี) ไปเป็น ไพร่สม คืออยู่ในอำนาจของขุนนาง กำลังคนของหลวงก็จะลดลง ในขณะที่หากขุนนางคนนั้นมีอำนาจ มากๆ กำลังคนของขุนนางคนนั้นก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคงของหลวงอีกด้วย
จึงไม่แปลกอะไรเลยที่ในปีพ.ศ.2420รัชกาลที่5 จะทรงปรับให้มีการพระราชทานเงินเดือนแก่ข้าราชการและเจ้านายแต่ละพระองค์ แทนการพระราชทานไพร่ และยังทรงได้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับระบบไพร่อยู่เรื่อยมาจนกระทั่งออกพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเมื่อเรือน พ.ศ.2448 ไม่กี่เดือนหลังจากที่ได้มีการเลิกทาสนั่นแหละครับ
(นอกจากนี้แล้วในปี 2448 นี้เองยังเป็นปีเดียวกับที่รัชกาลที่ 5 ทรงจัดการเรื่องการปักปันเขตแดนทางด้านตะวันออกและอีสาน กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสจนสำเร็จเรียบร้อย
ภายหลังจากที่ได้ปักปันเขตแดนอีกฟากข้างของสยามกับอังกฤษจนสำเร็จเสร็จสิ้นไปก่อนหน้าแล้ว อีลิทชาวสยามในช่วงเวลานั้น จึงสามารถหลับตาพริ้มแล้วฝันถึงดินแดนรูปขวานทองได้อย่างรางๆ)
พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้
ชายฉกรรจ์รับราชการทหารกองเกิน2ปีแล้วเข้ารับราชการทหารกองประจำการอีก 2 ปี จากนั้นปลดจากกองประจำการเป็นกองหนุนขั้นที่ 1 อายุ 5 ปี แล้วค่อยปลดไปอยู่ในกองหนุนขั้นที่ 2 อีก 10 ปี
จากนั้นจึงถือว่าหมดหน้าที่รับราชการทหาร ไพร่สมที่ไม่เคยอยู่ภายใต้อำนาจเต็มของพระเจ้าแผ่นดินทั้งหมดจึงกลายสภาพเป็นทหารเกณฑ์ที่อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐสยามที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยตรง
การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของพระกรุณาธิคุณเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการแก้ปัญหา และรื้อโครงสร้างการจัดการทรัพยากรมนุษย์ของสยามเสียใหม่
พร้อมกันนั้นเองสยามก็ได้ก้าวเข้าสู่ยุคของ'สมบูรณาญาสิทธิราชย์'อันเป็นยุคที่อำนาจทุกอย่างถูกรวบเข้าหาศูนย์กลางคือ 'กษัตริย์' อย่างเต็มขั้น และอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน น้องมาริโอ้จึงต้องมานั่ง.........อย่างที่เห็นกันอยู่เพราะอย่างนี้นี่แหละครับ
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ 24 เมษายน 2558
Post on May2
nd
,2015.
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Size : 77.82 KBs
Upload : 2015-05-02 15:11:13
ติชม
กำลังแสดงหน้า
1/0
<<
1
>>
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :
Frankshin
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์
วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240
Generated 0.028744 sec.