Frankshin Article


เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
ธีรภัทร เจริญสุข : ติดตามความคืบหน้า เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย
มติชนออนไลน์ วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 เวลา 15:50:20 น

คําสั่ง คสช. ที่ 17/2558 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 โดยการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะใช้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพิกถอนเขตที่ดินสาธารณะสมบัติอันประชาชนใช้ร่วมกัน เขตปฏิรูปที่ดิน แนวเขตป่าสงวน และเขตป่าไม้ถาวร ที่เสื่อมสภาพทรุดโทรม กลายเป็นทุ่งนาและชุมชนมาก่อนแล้ว ใน 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก มุกดาหาร สงขลา สระแก้ว ตราด และหนองคาย ให้เป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งจะได้ทำให้แนวนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศไทยคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง โดยในเขตจังหวัดหนองคาย อันเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญเนื่องจากมีพื้นที่ติดกับเมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเป็นแนวทางผ่านไปยังประเทศจีน

ประกาศ คสช. ได้กำหนดพื้นที่ซึ่งอาจแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่สำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ตามแนวทางรถไฟ พื้นที่พัฒนา และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

พื้นที่สำหรับการขนส่งและลอจิสติกส์ มีสามพื้นที่หลักคือ บริเวณสถานีรถไฟตลาดหนองคายเดิม ใกล้สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว บริเวณสถานีรถไฟหนองคายปัจจุบัน และบริเวณสถานีรถไฟนาทา ซึ่งผู้เขียนเคยกล่าวถึงแล้วว่าส่วนนี้เป็นไปตามแผนการพัฒนาระบบขนส่งเดิมของกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะขยายให้เป็นสถานีรถไฟขนาดใหญ่รองรับรถไฟทางคู่ และอาจจะรองรับรถไฟความเร็วสูงได้ในอนาคต รวมถึงการพัฒนาเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายระบบขนส่งของสินค้า (Multi-modal transfer hub) เพื่อเปลี่ยนจากรถไฟเป็นรถบรรทุก หรือจากรถบรรทุกมาขึ้นรถไฟ อันจะทำให้การ กระจายสินค้าเป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น

ส่วนที่สอง คือ พื้นที่พัฒนาซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำตามผังเมืองรวม คือบริเวณติดทางหลวงแผ่นดินสายมิตรภาพ ก่อนถึงทางแยกหนองสองห้อง ใกล้วัดหนองสองห้องอันเป็นโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมและมหามกุฏราชวิทยาลัยสาขาหนองคาย คาดว่าจะได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการพาณิชยกรรม ค้าส่ง และโกดังสินค้าขนาดใหญ่ที่จะรับสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาเตรียมกระจายสินค้าต่อ และนำสินค้าจากภาคอื่น ๆ รวมถึงสินค้าที่ขนส่งขึ้นจากท่าเรือเตรียมขนส่งต่อไปยัง สปป.ลาว และตอนใต้ของจีน

ส่วนที่สาม คือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ตั้งอยู่ที่ตำบลสระใคร อำเภอสระใคร เป็นพื้นที่ที่เดิมเป็นสาธารณะสมบัติอันประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน จำนวน 718 ไร่ 35 งาน 8/10 ตารางวา ซึ่งน่าจะให้เอกชนเช่าใช้ที่ดินพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อผลิตสินค้าป้อนตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลาว และจีน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะมาลงทุนคือ อุตสาหกรรมการแปรรูปยางพารา แปรรูปอาหาร เครื่องจักรกลการเกษตร ปุ๋ยและวัสดุการเกษตร

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ในส่วนที่สามนั่น เมื่อพิจารณาจากสภาพที่ดินใช้งานจริงแล้วน่ากังขาว่า จะเหมาะสมกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษจริงหรือไม่ เพียงใด เนื่องจากห่างจากเขตชุมชนที่มีคนอาศัยค่อนข้างไกล แต่กลับมีพื้นที่ไม่มากพอที่จะสร้างพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับแรงงานที่จะมาปฏิบัติงานในเขตเศรษฐกิจและโรงงาน รวมถึงถนนที่เชื่อมต่อกับเขตพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นเพียงถนนลูกรัง ถนนที่ใกล้ที่สุดคือทางหลวงชนบทหมายเลข นค.7027 ซึ่งมีสภาพไม่ค่อยดีนัก รวมถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่มีสายส่งไฟฟ้าแรงสูงและระบบน้ำประปาหรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ใกล้เคียง ซึ่งหากจะพัฒนาเป็นเขตอุตสาหกรรมให้ได้จริงยังต้องใช้งบประมาณอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ คำสั่ง คสช. ดังกล่าว ยังได้อำนวยความสะดวกให้แก่เอกชนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่เป็นพิเศษ เป็นต้นว่า การขอแลกพื้นที่ราชพัสดุกับที่ดินเอกชนที่อยู่ที่อื่น การให้เอกชนเช่าที่ดินไม่น้อยกว่า 50 ปี และสามารถต่อสัญญาการเช่าได้ การอนุญาตให้ผู้เช่าสามารถทำประโยชน์ได้ทุกประการรวมถึงการใช้เช่าช่วง การไม่ต้องปฏิบัติตามผังเมืองรวม และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ดิน รวมถึงไม่ต้องเสียภาษีรายได้จากที่ดินด้วย ซึ่งก็น่าติดตามว่า เมื่อปฏิบัติจริงแล้วจะเกิดผลอย่างไร เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในไทย

ที่มา : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง โดย ธีรภัทร เจริญสุข
post on May26th,2015.


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


Frankshin
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์


วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240

Generated 0.026965 sec.