Frankshin Article


ผมควรไปเป็นอ.ราชภัฏ
เมื่อศาสตราจารย์จากจุฬาฯ โพสต์ 'ผมควรไปเป็นอ.ราชภัฏ'
มติชนออนไลน์ วันที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เวลา 13:49:01 น

หลังจากกรณีที่การเผยแพร่ภาพประกาศรับสมัครงานของธนาคารไทยพาณิชย์ในตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินฝึกหัด (Financial Advisor Trainee) โดยระบุคุณสมบัติว่าเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.75 จากมหาวิทยาลัยเฉพาะ 14 สถาบันได้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ มหิดล ศรีนครินทรวิโรฒ พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อัสสัมชัญ กรุงเทพ บูรพา ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลานครินทร์ หอการค้าไทย แม่ฟ้าหลวง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งแม้ว่าทางธนาคารได้ออกมาชี้แจงอย่างเป็นทางการหลายครั้งแล้วว่าเป็นการ 'ผิดพลาดในการสื่อสาร' แต่ยังคงไม่มีบทสรุปที่แน่ชัดออกมาจากฝั่งของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาลัยอื่น ๆ นอกเหนือจาก 14 สถาบันที่ระบุไว้

ท่ามกลางกระแสสังคมที่หลากหลาย ทั้งการถกเถียงกันในประเด็นความเท่าเทียม คุณภาพการศึกษา รวมถึงค่านิยมทางสังคม ศ.ดร.สมภาร พรมทา อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งค่าสาธารณะ ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวอย่างน่าสนใจ ระบุว่า อยากพูดเรื่องมหาวิทยาลัยราชภัฏสักหน่อยครับ และที่จะพูดต่อไปนี้ผมประสงค์จะพูดกับผู้บริหารการศึกษาที่ดูแลการศึกษาของชาติเป็นหลัก

หลายปีมานี้ผมมีโอกาสไปช่วยสอนในราชภัฏหลายแห่ง(ขอเรียกสั้นๆ นะครับ)ที่ไปสอนนี้ไปสอนพิเศษในหลักสูตรที่สูงกว่าปริญญาตรี การได้ไปรู้จักครูบาอาจารย์ตลอดจนนักศึกษาราชภัฏให้ภาพบางอย่างในใจของผมที่นับวันก็รุนแรงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ภาพแรกคือความดิ้นรนของชาวราชภัฏที่จะพัฒนาตนให้ทัดเทียมมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่ราชภัฏ ความดิ้นรนของคนที่ถูกมองว่าอยู่ต่ำกว่าเขานี่ผมรักมาก นี่คือเหตุผลที่ผมได้ปวารณาตัวแก่ราชภัฏเท่าที่ผมรู้จักว่าผมยินดีมาช่วยเต็มกำลังหากสุขภาพยังแข็งแรง เวลานี้มีนักศึกษาปริญญาเอกของราชภัฏหลายคนติดต่อเขียนจดหมายมาปรึกษาผมในการทำวิทยานิพนธ์อยู่ต่อเนื่องอันเป็นเรื่องที่ผมยินดีช่วยเหลือตามที่ปวารณา

ราชภัฏเกิดตามธรรมชาติเหมือนโรงเรียนวัดหรือโรงเรียนบ้านนอกที่เกิดตามธรรมชาติ สังคมนั้นจัดการแยกชั้นของผู้คนเองคนมีเงินก็มีโอกาสมากกว่า นักศึกษาราชภัฏนั้นคือเด็กที่ด้อยโอกาสเพราะเกิดนอกเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพ หรือหากเกิดในเมืองก็มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี แม้หัวพอไปได้ก็ย่อมสู้ลูกหลานคนมีเงินที่สติปัญญาพอๆ กันไม่ได้ ผมสอนจุฬา ผมไม่เคยภูมิใจว่าได้สอนมหาวิทยาลัยชั้นนำเลย ตรงข้าม กลับรู้สึกว่าตนผิด ผมควรไปสมัครเป็นอาจารย์ราชภัฏ แต่ผมก็ไม่ทำ ที่พูดมานี้ผมต้องการให้ผู้บริหารการศึกษามองราชภัฏอย่างคนมีความรู้ทางสังคมวิทยาบ้าง ผมเห็นกรรมการที่ตั้งไปจากมหาวิทยาลัยอย่างจุฬาไปไล่บี้ราชภัฏเวลาตรวจประเมินคุณภาพการศึกษาแล้วเศร้าใจ เหมือนอาจารย์ที่จบจากเมืองนอกพูดฝรั่งคล่อง ไปตรวจเด็กประถมที่โรงเรียนบ้านโนนหินแห่ แล้วตกใจจะเป็นลมเมื่อลองให้เด็กพูดอังกฤษให้ฟัง เด็กมันจะพูดได้อย่างไรครับ และที่พูดไม่ได้ก็ไม่ใช่ความผิดของใครด้วย ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ เราควรเห็นใจ เข้าใจ พยายามคิดหาทางช่วย ไม่ใช่ไปไล่บี้เขา แค่เห็นใจแล้วคิดช่วยอะไรก็คงพอไปได้ และดีวันดีคืน

เพื่อให้เห็นตัวอย่างว่าผมไม่ใช่สักแต่พูด ผมขอเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกระเบียบต่อไปนี้
1. อาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐถือเป็นสมบัติชาติ ดังนั้นต้องย้ายที่ทำงานได้ เช่นย้ายผมจากจุฬาไปราชภัฏบุรีรัมย์ได้ แล้วย้ายอาจารย์จากบุรีรัมย์มาที่จุฬาได้เช่นกัน
2. การย้ายอาจมีผลต่อการพัฒนาวิชาการโดยรวมได้ ดังนั้น การย้ายควรทำหลังจากที่อาจารย์ได้รับการประเมินตำแหน่งทางวิชาการแล้ว เช่นเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่จุฬาแล้วอยู่จุฬาเกินสามปีไม่ได้ ต้องย้าย
3. ทำได้อย่างนี้จะเกิดความเสมอภาคทางการศึกษา พ่อแม่เด็กก็จะเลิกกลุ้มใจหาที่เรียนให้ลูก เรียนที่ไหนไม่ต่างกัน ลองดูไหมครับ ไม่ต้องกลัวว่าการศึกษาชาติจะตกต่ำ ผมไปอยู่ราชภัฏแล้วสติปัญญาผมจะด้อยลงหรือ อยู่ไหนผมก็คิดและทำงานวิชาการได้

post on July3rd,2015.


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


Frankshin
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์


วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240

Generated 0.027993 sec.