Frankshin Article
ไมโครเวฟ...ปลอดภัย
ความจริงของไมโครเวฟ...ปลอดภัย-ใช้ได้-ไม่อันตราย
มติชนออนไลน์ วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 06:45:00 น.
“ไมโครเวฟ” กลายเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันของทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ทั้งในครัวเรือนและที่ทำงาน เพราะช่วยให้วิถีชีวิตของผู้คนสะดวกสบายขึ้น แต่ผู้ใช้ยังคงมีความกังวลหรืออาจจะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับความปลอดภัยจากการใช้เตานี้
เช่น ปรากฏการณ์ Superheating ที่น้ำร้อนที่ต้มด้วยเครื่องไมโครเวฟเกิดปะทุขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากโรยผงกาแฟลงไป หรือแม้แต่ฟอร์เวิร์ดเมลที่เด็กฝรั่งทำการทดลองรดน้ำต้นไม้ด้วยน้ำเปล่า เปรียบเทียบกับน้ำที่ผ่านการต้มด้วยไมโครเวฟ ที่ปรากฎว่าน้ำต้มทำให้ต้นไม้ตาย แต่สุดท้ายแล้วกลับพบว่าเป็นการตัดต่อภาพ เรื่องดังกล่าวล้วนชวนให้ผู้ที่ต้องสัมพันธ์กับเตาไมโครเวฟเกิดความเชื่อว่า “ไมโครเวฟมีอันตราย”
ในประเด็นนี้กับนักวิชาการให้คำตอบได้ชัดเจนตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ เช่น ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันหนักแน่นว่า “เลิกกังวลได้เลย...ไมโครเวฟสามารถใช้ได้ โดยไม่มีอันตรายใดๆทั้งสิ้น”
เพราะตลอด 50 ปีที่มีการใช้เครื่องไมโครเวฟอย่างแพร่หลาย ยังไม่พบกรณีศึกษาใด ๆ ที่ระบุว่า มีคนที่ได้รับอันตรายจากการรับประทานอาหารที่ให้ความร้อนด้วยการอุ่นจากเตาไมโครเวฟ
ส่วนที่บางคนยังเข้าใจผิดว่า คลื่นไมโครเวฟหรือแสงจากเตาไมโครเวฟอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ อธิบายว่า
ไมโครเวฟไม่ใช่รังสีอันตรายเหมือนพวกกัมมันตรังสีหรือรังสีเอ็กซ์ แต่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่อยู่ระหว่างคลื่นวิทยุ กับรังสีใต้แดงหรืออินฟราเรด (Infrared)
มีขนาดความยาวคลื่นประมาณ 12-33 เซนติเมตร และ
มีธรรมชาติเหมือนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดอื่น
เช่น คลื่นวิทยุ 3G, 4G, WIFI และคลื่นที่ความถี่สูงขึ้นอย่าง UV, X-ray และ Gamma-Ray
“หากเรายังสามารถดูโทรทัศน์ได้ ยังใช้โทรศัพท์มือถือ หรือใช้ WIFI ได้ ก็สามารถใช้เครื่องไมโครเวฟได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ” ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ ย้ำ ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ อธิบายหลักการทำงานของไมโครเวฟ ว่า คือ
การให้ความร้อนแบบ Dielectric Heating โดยคลื่นไมโครเวฟที่สะท้อนกลับไปกลับมาภายในเตา สามารถถ่ายทอดพลังงานให้กับโมเลกุลของน้ำได้ เนื่องจากน้ำเป็นโมเลกุลที่มีขั้ว เวลาเจอคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามันจะโดนคลื่นบังคับให้กลับขั้วไปมาตามทิศทางของสนามไฟฟ้าที่มากับคลื่น การขยับตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็วนี้เองที่ทำให้โมเลกุลของน้ำมีการเสียดสีกับโมเลกุลข้างๆ จนอุณหภูมิสูงขึ้น และทำให้อาหารสุกได้ นอกจากนี้ ตู้ไมโครเวฟยังถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหลุดเล็ดลอดออกมา สิ่งที่บุภายในตู้เป็นโลหะที่ทำหน้าที่สะท้อนคลื่นให้อยู่เฉพาะภายในเตา และที่ฝาหน้าของเครื่องก็มีโลหะที่สานกันอยู่ซึ่งสามารถสะท้อนคลื่นได้ และหากมีคลื่นรั่วไหลจริงเราจะรับรู้ได้ทันที เพราะจะมีความร้อนออกมาจากเครื่อง
ส่วนอีกคำถามเกี่ยวกับคุณค่าทางอาหารจะสูญเสียไปหรือไม่ถ้าใช้เครื่องไมโครเวฟ เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คุณค่าทางอาหารบางชนิด เช่น วิตามิน อาจสลายตัวได้เมื่อได้รับความร้อน ส่วนจะสลายตัวมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และระยะเวลาในการได้รับความร้อน “ถ้าเปรียบเทียบการให้ความร้อนด้วยไมโครเวฟกับวิธีการอื่น ๆ พบว่าไมโครเวฟอาจทำให้คุณค่าทางอาหารสูญเสียไปน้อยกว่าด้วยซ้ำ เพราะใช้เวลาในการให้ความร้อนน้อยกว่าวิธีอื่น และการอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟบ่อย ๆ ก็ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพ หากใช้ภาชนะบรรจุที่เหมาะสม ในอุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสม” ผศ.ดร.สุรเชษฐ์ บอก
สำหรับภาชนะที่ใช้กับไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย คือ กระเบื้องเคลือบ เซรามิคไม่มีสีและลวดลาย แก้วทนความร้อน และพลาสติกทนความร้อน ส่วนภาชนะที่ห้ามใช้กับไมโครเวฟ คือ พลาสติกชนิดบาง โฟม โลหะที่จะเป็นตัวนำไฟฟ้าทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น จนอาจทำให้ไฟไหม้ได้
ด้าน รศ.ดร.จิรารัตน์ อนันตกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านกรรมวิธีการผลิตอาหารและวิศวกรรมอาหาร ภาควิชาเทคโนโลยี ทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาชนะที่ใช้กับไมโครเวฟโดยเฉพาะภาชนะบรรจุอาหารแช่แข็ง ว่า
ผู้ประกอบการจะเลือกใช้ภาชนะที่ทำจากวัสดุที่มีจุดหลอมเหลวสูง คือมีการหลอมละลายช้าและทนความร้อน เช่น พลาสติกในกลุ่มพอลิโพรพิลีน (Poly-propylene : PP) ซึ่งจะมีสัญลักษณ์อยู่ที่บรรจุภัณฑ์ อาทิ ไมโครเวฟ เซฟ (Micro-wave Save) หรือ ไมโครเวฟเอเบิล (Microwavable) นั่นคือข้อบ่งชี้ว่าสามารถใช้กับเตาอบไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย
“การอุ่นร้อนอาหารแช่แข็งในไมโครเวฟ จะต้องเปิดฝาพลาสติกที่ปิดบรรจุภัณฑ์ออก หรือเจาะรูบนแผ่นพลาสติกที่เคลือบติดอยู่ด้านบนก่อนนำเข้าอุ่น ไม่ใช่ปิดสนิท เพื่อป้องกันอันตรายจากไอน้ำที่เกิดขึ้นระหว่างการอุ่นที่หากไม่มีทางระบายออกอาจเกิดการระเบิดได้” รศ.ดร.จิรารัตน์ แนะนำ
งานวิจัยยังพบว่าภาชนะที่ใส่อาหารแช่แข็งเมื่อนำไปอุ่นกับไมโครเวฟแล้ว ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำบ่อย ๆ เพราะพลาสติกที่ถูกนำกลับมาใช้กับไมโครเวฟหลายๆครั้ง คุณภาพของความแข็งแรง การทนความร้อน และความปลอดภัยจะลดลง และการแพร่ของสารที่ใช้ขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์จะถูกปลอดปล่อยออกมาสู่อาหารได้มากขึ้น จึงไม่ควรใช้ซ้ำเกิน 2 ครั้ง แต่สามารถนำไปบรรจุอาหารที่ไม่ต้องผ่านความร้อนได้
ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคและอุ่นอาหารด้วยไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัยตามขั้นตอนและวิธีที่นักวิชาการทั้ง 2 ท่านแนะนำ เพื่อให้ชีวิตที่เร่งรีบและชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบายดำเนินไปตามวิถีคุณภาพชีวิตที่ดี
Post on September 24
th
,2015.
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Size : 41.28 KBs
Upload : 2015-09-24 14:16:08
Size : 41.37 KBs
Upload : 2015-09-24 14:35:53
Size : 47.28 KBs
Upload : 2015-09-24 14:35:53
ติชม
กำลังแสดงหน้า
1/0
<<
1
>>
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :
Frankshin
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์
วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240
Generated 0.033643 sec.