Frankshin Article


How To ดูแล ′น้องหมา′
รายงานพิเศษ : How To ดูแล ′น้องหมา′ ไม่ต้องบู๊กับข้างบ้าน
มติชน วันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2559 เวลา 20:51:01 น

เป็นข่าวเกรียวกราว เมื่ออดีตนางเอกดัง .............................................. ดารา-นักแสดงชื่อดัง ถูกเพื่อนบ้านแจ้งความข้อหาทำร้ายร่างกายได้รับบาดเจ็บ สาเหตุมาจากปัญหาสุนัขเลี้ยงนั้น รายละเอียดข่าว เป็นเรื่องของสองฝ่ายที่ต่างก็มีจิตใจเมตตากรุณาเหมือนๆ กัน รักสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะน้องหมาของตนเอง แต่สุดท้ายกลายเป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาล เราจะป้องกันปัญหาดังกล่าวกันยังไงดี

'มติชน' สอบถามไปยังนางเบ็ญจวรรณ สิชฌนาสัย ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับคำอธิบายว่า หมาหรือสุนัขกัดกันเอง หรือกัดเพื่อนบ้าน คนที่ผ่านไปมา เป็นเรื่องที่เกิดอยู่แล้วโดยทั่วไป แนวทางป้องกันที่ดีที่สุดคือ ก่อนจะเลี้ยงน้องหมา เจ้าของควรศึกษาข้อมูลเพื่อให้ทราบลักษณะนิสัยของสุนัขที่เลี้ยงว่าตามสายพันธุ์แล้วมีนิสัยอย่างไร ดุร้ายหรือไม่ หากเป็นสุนัขที่มีนิสัยดุร้าย หรือมีประวัติเคยทำร้ายผู้อื่นมาก่อน จะถูกจัดว่าเป็นสุนัขควบคุมพิเศษ ซึ่งเจ้าของต้องมีการควบคุมเป็นอย่างดี อาทิ ผู้จูงต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 15 ปี เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อจะนำสุนัขออกมาในที่สาธารณะ เจ้าของต้องมั่นใจว่าสามารถควบคุมได้ โดยหลักการแล้วควรมีสายจูงทุกครั้ง ซึ่งได้มีการกำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548

อย่างไรก็ตาม หากสุนัขที่เลี้ยงไว้ไปทำร้ายผู้อื่นนั้น เจ้าของจะมีความผิดทางแพ่งและอาญา ซึ่งผู้เสียหายสามารถแจ้งความดำเนินคดีและเรียกค่าเสียหาย ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุขกล่าวว่า ตามข้อบัญญัติฯ ได้กำหนดให้เจ้าของสุนัขต้องนำสุนัขไปจดทะเบียนที่สำนักงานเขตในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามดูแล ซึ่งทางเขตฯจะออกบัตรประจำตัวสุนัขให้ หากสุนัขหายหรือเสียชีวิตจะต้องแจ้งไปที่เขตทันที

ปัจจุบันมีสุนัขที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องและได้รับการฝังไมโครชิปประมาณ 90,000 ตัว แต่จากผลสำรวจคาดว่ามีสุนัขในบ้านพักอาศัยประมาณ 600,000 ตัว ซึ่ง กทม.ก็ได้รณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนเข้าระบบจดทะเบียน เพื่อรับการดูแลอย่างเป็นระบบ ขณะที่สุนัขจรจัดคาดว่ามีประมาณ 100,000 ตัว กทม.ได้ออกหน่วยเคลื่อนที่ฉีดวัคซีนและคุมกำเนิด เพื่อควบคุมไม่ให้มีสุนัขจรจัดมากเกินไป

นอกจากนี้ยังมีสถานที่เลี้ยงสุนัขจรจัด 2 แห่งคือ ที่ศูนย์พักพิงสุนัข กทม. เขตประเวศ และศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด กทม. อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี เพื่อรองรับสุนัขที่ประชาชนร้องเรียนว่าสร้างความเดือดร้อนรำคาญ สำหรับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548 ข้อ 16 ได้กำหนดให้เจ้าของสุนัขต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังนี้

1.จัดสถานที่เลี้ยงตามความเหมาะสมของสุนัข
2.ควบคุมสุนัขมิให้ออกนอกสถานที่เลี้ยงโดยปราศจากการควบคุม
3.ดูแลสุนัขมิให้ก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ เช่น ก่อให้เกิดเสียงดังติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ เป็นต้น
4.รักษาสถานที่เลี้ยงสุนัขให้สะอาดอยู่เสมอ จัดเก็บสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้เป็นที่สะสมหมักหมมจนเกิดกลิ่นเหม็นรบกวนผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
5.ต้องรับผิดชอบต่อความเป็นอยู่ของสุนัข เช่น เรื่องอาหาร ความสะอาด เป็นต้น
6.เมื่อสุนัขตาย เจ้าของสุนัขจะต้องกำจัดซากสุนัขให้ถูกสุขลักษณะ
7.จัดให้มีการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในสุนัข เพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสุนัขมาสู่คน
8.ในกรณีที่มีเหตุควรสงสัยว่าสุนัขที่เลี้ยงเป็นโรคอันอาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพของประชาชน ให้เจ้าของสุนัขแยกกักสุนัขนั้นไว้ต่างหาก และแจ้งให้หน่วยงานที่จดทะเบียนไว้ทราบ และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์

ทั้งนี้ ในข้อ 20 ยังได้กำหนดให้ผู้ใดนำสุนัขออกนอกสถานที่เลี้ยง ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ 1.พกบัตรประจำตัวสุนัข 2.ผูกสายลากจูงสุนัขที่แข็งแรงและจับสายลากจูงตลอดเวลา ในกรณีที่เป็นสุนัขควบคุมพิเศษต้องใส่อุปกรณ์ครอบปากด้วย

หากฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ มีโทษตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 นั่นคือระบบระเบียบที่ กทม.ตั้งขึ้นนานแล้ว แต่คาดว่าเจ้าของสุนัขไม่ได้ใส่ใจนัก หากลองเริ่มต้นจัดระเบียบการดูแลน้องหมา ของใครของมัน อาจช่วยไม่ให้ข่าวแบบนี้เดินขึ้นพื้นที่สื่อบ่อยๆ ได้

post วันอังคารที่ 26 มกราคม 2559 เวลา 7.32 น.


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 52.27 KBs
Upload : 2016-01-26 14:16:01
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


Frankshin
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์


วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240

Generated 0.031791 sec.