Frankshin Article


ปฏิบัติธรรม วิจักขณ์ มติชน

ที่มา : คอลัมน์ ธรรมนัว มติชนรายวัน

โดย วิจักขณ์ พานิช



ข่าวการตายของโรบิน วิลเลียมส์ สร้างความรู้สึกสะเทือนใจให้แก่ผู้คนจำนวนมากราวกับสูญเสียญาติมิตรใกล้ชิด ผลงานสร้างสรรค์ที่เขามอบไว้แก่โลกนี้ยังประทับอยู่ในใจ และเป็นส่วนสำคัญของชีวิตและการเดินทางภายในของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ น่าแปลกที่ชายธรรมดาๆ คนหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่พระ ไม่ใช่บาทหลวง ไม่ใช่ครูสอนศาสนา หรือผู้นำทางจิตวิญญาณ กลับมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของคนทุกชาติทุกภาษาได้มากมายถึงเพียงนี้ 

ช่วงนั้นผมมีโอกาสได้อ่านข้อเขียนและบทความหลายชิ้นที่แสดงความเห็นต่อการตายของโรบิน วิลเลียมส์ น่าเศร้าที่ชาวพุทธไทยจำนวนไม่น้อย พุ่งเป้าไปที่การเทศนาสั่งสอนเรื่องความผิดบาปจากการฆ่าตัวตายครั้งนี้อย่างไร้ความรู้สึก ?บ้างก็ว่าการเป็นนักแสดงของเขาไม่ได้ช่วยให้เขาเข้าถึงธรรมะอย่างแท้จริง บ้างก็ว่าทำไมคิดสั้น ทำไมไม่รักตัวเอง บ้างก็เตือนเด็กและเยาวชนว่าไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง บ้างก็ว่าเขาจะต้องตกนรกไม่ได้ผุดได้เกิด 

และนี่เป็นอีกครั้งที่ผมรู้สึกว่า โลกทรรศน์แบบศาสนาเป็นศูนย์กลาง ช่างหยาบกระด้าง ไร้หัวใจเกินกว่าจะเข้าใจชีวิต และมีกรอบความคิดที่คับแคบเกินกว่าจะเข้าใจโลก

ในบรรดาข้อเขียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผมสะดุดเข้ากับบทความในเว็บไซต์ของ Huffington Post ที่ชื่อ 'Meditation is not enough: a Buddhist perspective on suicide' เขียนโดย Lodro Linzler (ฉบับแปลเป็นภาษาไทย ตีพิมพ์ในนิตยสาร way ฉบับที่ 77)

โลโดร รินสเลอร์ เป็นชาวพุทธรุ่นใหม่และผู้ปฏิบัติธรรมชาวอเมริกัน เขายังเป็นครูสอนภาวนา และนักเขียนหนังสือธรรมะเบสต์เซลเลอร์ในอเมริกา ชื่อหนังสือของเขาไม่ว่าจะเป็น 'Buddha in the Bar' หรือ 'Buddha in the Office' สะท้อนความเป็นสมัยใหม่ของนักเขียนชาวพุทธคนนี้ได้เป็นอย่างดี โลโดรไม่ได้แยกธรรมะออกจากโลกและไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิตทางศาสนาอย่างตัดขาดจากผู้อื่น นอกจากจะเป็นผู้สนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง โลโดรยังสื่อสารประสบการณ์ของเขาในฐานะครูสอนภาวนา ชี้แนะแนวทางให้ผู้คนเดินบนเส้นทางปฏิบัติธรรมไปพร้อมๆ กับการเผชิญชีวิตการงาน ชีวิตความสัมพันธ์ ชีวิตครอบครัว ในฐานะส่วนหนึ่งของเส้นทางปฏิบัติธรรม

ทว่า ในบทความชิ้นนี้ โลโดรออกมายอมรับว่า เมื่อไม่นานมานี้ เขาเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และเคยคิดที่จะฆ่าตัวตาย...

โลโดรเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขาในครั้งนั้นอย่างไม่อาย ด้วยเห็นว่ามันน่าจะช่วยสื่อสารแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อชาวพุทธในการเข้าใจผู้คนที่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้ามากขึ้น เขาตั้งข้อสังเกตว่า อาจารย์สอนธรรมะส่วนใหญ่มักมองโรคซึมเศร้าเป็นรูปแบบความทุกข์ใจอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถเผชิญได้ด้วยการปฏิบัติธรรม มุมมองเช่นนั้นอาจทำให้เรามองข้ามความซับซ้อนของอาการซึมเศร้า และขาดการตระหนักรู้ถึงวิธีการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เช่น การพูดคุย เทคนิคจิตบำบัด หรือการใช้ยารักษา 

นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มการตัดสินผู้มีอาการทางจิตอย่างเหมารวมว่า 'เสียสติ' หรือ 'บ้า' หรือมองคนที่พยายามฆ่าตัวตายว่าเป็นพวกคิดสั้นหรือมิจฉาทิฐิ ทั้งหมดถูกสรุปง่ายๆ ว่าเป็นสิ่งที่ 'ไม่ควร' เกิดขึ้นกับคนที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ ซึ่งควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนอื่น มุมมองอันมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์และเป้าหมายของการปฏิบัติตนตามหลักศาสนาเช่นนี้เองที่มีส่วนเพิ่มความตึงเครียด จนกลายเป็นแรงบีบคั้นตัวเองและคนรอบข้างอย่างปราศจากความอ่อนโยนและเป็นมิตร 

...และกว่าจะรู้ตัวว่าต้องการความช่วยเหลือ มันก็อาจสายไปเสียแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นศิษย์หรือเป็นครู ไม่ว่าจะมีประสบการณ์บนเส้นทางธรรมมาอย่างโชกโชนหรือเพิ่งเริ่มต้น ทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่กับความทุกข์อย่างรู้ตัวที่สุดเท่าที่จะทำได้ และในยามที่อะไรๆ ถาโถมเข้ามาพร้อมๆ กันราวกับพายุ เรือลำน้อยก็อาจหลุดจากการประคองแล้วพลิกคว่ำลงได้เป็นธรรมดา การศึกษาธรรมะไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าเราจะปลอดภัย เช่นเดียวกับการเป็นนักปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าเราจะรอดตายหรือได้รับการคุ้มครองปกป้อง 

ในโลกสมัยใหม่ ความเป็นปัจเจกบุคคลทำให้ทุกคนเหมือนตกอยู่ในเรือลำเดียวกัน เรือน้อยที่ลอยล่องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ด้านหนึ่ง เสรีภาพทางความคิด คำพูด และการกระทำ ทำให้การเดินทางทั้งภายนอกและภายในสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไม่มีขีดจำกัด คุณค่าใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นพร้อมกับปัญหาและความทุกข์ทางใจซับซ้อนแบบใหม่ๆ ที่ไม่มีใครเคยรู้จักมาก่อน หากภาวะปีติสุขคือประสบการณ์ภายในอย่างหนึ่งของการปฏิบัติธรรม การจมดิ่งสู่ความมืดมิดแห่งภาวะซึมเศร้าก็คือประสบการณ์อีกด้านหนึ่งซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนเช่นกัน โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมในโลกความเป็นจริงที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในกำแพงวัด

จากประสบการณ์การทำงานในแวดวงศาสนา ผมพบว่ามีคนไทยจำนวนมากประสบปัญหาอาการทางจิต แต่เลี่ยงไม่ไปพบจิตแพทย์ พวกเขาเลือกหันหน้าเข้าหาวัดและสถานปฏิบัติธรรมแทน โดยเชื่อว่าศาสนาและการปฏิบัติธรรมจะช่วยรักษาอาการทางจิตอย่างได้ผล สิ่งแวดล้อมในวัดช่วยสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้แก่พวกเขาได้ในช่วงเวลายากลำบาก อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่ามีที่พึ่ง บ้างก็เป็นโอกาสดีในการถอนตัวเองออกจากปัญหา พาตัวเองออกไปจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ได้ฝึกฝนเทคนิคการภาวนาที่ช่วยปล่อยวางความคิด ความกังวล การยึดมั่นถือมั่น และเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาอยู่กับตัวเอง

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ กิจกรรมและกระบวนการหลายอย่างที่เกิดขึ้นในวัดและศูนย์ปฏิบัติธรรมในปัจจุบันนั้น นอกจากจะไม่ได้เป็นไปเพื่อการทำความเข้าใจและให้ความเข้าใจคนที่มีอาการทางจิตแล้ว บ่อยครั้งกลับแฝงไว้ด้วยมายาคติทางเพศ ทางชนชั้น ค่านิยมทางสังคม ประเพณี ความเชื่อ ภายใต้กรอบคิดทางศาสนาอย่างสุดโต่ง ทัศนคติเหล่านั้นนอกจากจะไม่ช่วยให้อาการทางจิตดีขึ้น ยังบีบคั้นทำให้อาการเหล่านั้นเก็บกดรุนแรงอยู่ลึกๆ เทคนิคการเทศนาสั่งสอนเพื่อเสริมสร้างความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความรู้สึกผิดบาป แล้วดึงคนให้หันมาใช้ศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจแทนนั้น ยังเป็นกลวิธีที่ใช้ได้ผลอยู่เสมอๆ โดยที่น้อยคนจะกล้าตั้งคำถามว่า วิธีการเหล่านั้นเป็นไปเพื่อช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยากอย่างแท้จริง หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสถาบันศาสนาเองกันแน่?

แต่ที่แน่ๆ อาการทางจิตที่ไม่ได้รับการเยียวยาอย่างตรงจุด แต่ถูกกดข่มไว้ด้วยกรอบคิดดีชั่วทางศาสนา มีส่วนสำคัญที่ทำให้ภาวะทางอารมณ์ของพุทธศาสนิกชนมีความรุนแรงมากขึ้น ภายใต้รอยยิ้มและบุคลิกกันเยือกเย็นน่าเกรงขาม หากมีผู้เห็นต่างจากความเชื่อที่ตนยึดถือ กล้าดีมาวิพากษ์วิจารณ์ครูบาอาจารย์ ดูหมิ่นพระพุทธเจ้า ลบหลู่พระไตรปิฎก พายุทางอารมณ์ก็สามารถก่อตัวขึ้น พัฒนาเป็นความรุนแรงเพื่อการปกป้องคุ้มครองที่ยึดเหนี่ยวสูงสุดนั้น หลายครั้งภาวะศรัทธาอย่างสุดโต่งเป็นสิ่งที่สถาบันศาสนาหรือสำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ปลูกฝังและส่งเสริมเสียด้วยซ้ำ นักบวชและครูบาอาจารย์ทางศาสนาเก่งแต่เทศนาแต่ไม่มีทักษะในการรับฟัง เทคนิคการปฏิบัติธรรมต่างมุ่งเป้าไปที่การสร้างสภาวะความสุข แต่ไม่ช่วยให้เข้าใจและอยู่กับสภาวะจิตที่ตนประสบอยู่ ไม่ได้ช่วยให้ยอมรับความเป็นมนุษย์ และผ่อนคลายกับตัวเองตามที่เป็นได้มากขึ้น 

ผลคือ ความทุกข์ของปัจเจกบุคคลไม่ได้ถูกปลดปล่อยและคลี่คลายที่ต้นเหตุ แต่กลับถูกเบี่ยงไปฉวยใช้ในทิศทางอื่น...

แน่นอน การปฏิบัติธรรมฝึกให้เราเผชิญปัญหาด้วยตัวเอง แต่บางครั้งปัญหามันก็หนักหนาเกินกว่าคนคนหนึ่งจะรับไหว แม้จะรู้แจ้งในธรรมมามากเท่าไร ผู้ปฏิบัติธรรมก็สามารถโอนเอนไปกับความทุกข์ถาโถมได้เหมือนกับคนอื่นๆ อุดมคติสูงส่งทางศาสนา ไม่ควรมาลดทอนความสำคัญของการร่วมทุกข์ร่วมสุขและการหยิบยื่นให้ความช่วยเหลือ และนั่นคือความหมายของคำว่า 'สังฆะ' ซึ่งไม่ใช่สถาบันศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์สูงส่ง แต่คือมิตรภาพของเพื่อนร่วมทางและเพื่อนร่วมทุกข์ ในบริบทของโลกสมัยใหม่ เราไม่อาจนำเอาทุกปัญหามาสู่การปฏิบัติธรรม แล้วหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ไม่สามารถนำหลักธรรมไปเทศนาสั่งสอนทุกคน แล้วหวังว่าพวกเขาจะหลุดพ้นจากความทุกข์ 

...ธรรมะไม่ใช่ยาพาราเซตามอล

ในโลกตะวันตก มีคนจำนวนมากป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และพุทธศาสนาก็ดูจะเข้าไปมีบทบาทกับเรื่องนี้อยู่เหมือนกันครับ แต่มักเป็นแนวทางแบบมหายานที่เน้นการร่วมทุกข์ร่วมสุขมากกว่าการพิพากษาหรือเทศนา แม้จะไม่ได้มีวัดหรือศูนย์ปฏิบัติธรรมมากมายอย่างในบ้านเรา ทว่า ชาวพุทธผู้ปฏิบัติธรรมจำนวนมากประกอบอาชีพเป็นนักจิตบำบัด มีทักษะในการฟัง และสะท้อนความรู้สึกความต้องการของคนที่มีความทุกข์โดยไม่เอาความคิดของตัวเองไปตัดสิน ส่วนเรื่องสติและสมาธิที่ฝึกๆ กัน ก็เพื่อที่จะ 'ว่าง' และ 'อยู่' กับความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ตรงหน้าให้ได้ โดยที่ไม่ไปก้าวก่ายการเดินทางภายในของเขา นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมจิตบำบัดอื่นๆ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ รวมถึงการให้ยาเพื่อปรับสมดุลของเคมีในสมอง และอื่นๆ ที่ช่วยให้คนที่มีอาการซึมเศร้าค่อยๆ กลับคืนสู่สมดุลชีวิตได้ด้วยตัวเขาเอง ส่วนการฝึกภาวนานั้นก็เป็นหนทางหนึ่งที่อาจนำมาใช้เพื่อให้ผ่อนคลายกับตัวเองมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าการปฏิบัติธรรมอย่างเดียวจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

สภาพสังคมเป็นแบบนี้ ในอนาคตอันใกล้เตรียมรับมือกับโรคซึมเศร้ากันไว้ได้เลยครับ ในความเห็นของผม สิ่งที่สังคมไทยต้องการในตอนนี้น่าจะเป็นนักจิตบำบัดที่ถูกฝึกฝนมาอย่างมีทักษะ ไม่ใช่พระหรือคอร์สปฏิบัติภาวนา และหากชาวพุทธไทยจะหาทางพ้นทุกข์ให้น้อยลง ฝึกอยู่กับทุกข์ให้มากขึ้น ฝึกเทศน์ให้น้อยลง ฟังให้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 31.53 KBs
Upload : 2014-09-16 17:12:09
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

2
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


Frankshin
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
สามัญสัมพันธ์


วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมกรุงเทพ
เลขที่ 89 ลาดพร้าว101 คลองจั่น บางกะปิ
กรุงเทพฯ10240

Generated 0.029780 sec.